ตอนนี้น้องต้าอายุ 1 ขวบ 10 เดือน สังเกตมานานว่าน้องต้าเป็นเด็กถนัดซ้าย เวลาเค้ากินข้าวด้วยตัวเค้าเองตอนแรก เค้าจะใช้มือข้างซ้ายถือช้อน แต่พอเห็นคนอื่นถือช้อนขาขวา เค้าก็จะถือช้อนข้างขวาตาม เวลาเค้ายกขาขึ้นบันไดก่อน เค้าก็จะยกขาซ้ายก่อน แต่พอเห็นแม่ยกขาขวา ก็เปลี่ยนมายกขาขวาก่อน เวลาเค้าจับปากกาหรือดินสอก็จะเลือกจับด้วยมือซ้ายก่อน อีกประการหนึ่งก็คือคุณปู่ของน้องต้าถนัดซ้าย คุณพ่อของน้องต้าก็ถนัดซ้ายแต่เขียนหนังสือข้างขวา คิดว่าเป็นไปได้สูงที่น้องต้าจะถนัดซ้าย เนื่องจากเรื่องความถนัดซ้ายขวาอาจมีปัจจัยด้านกรรมพันธุ์อยู่ด้วย
ในเรื่องพัฒนาการของน้องต้านั้นตอนนี้เป็นห่วงเรื่องพัฒนาการพูดของเค้า ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของเค้าด้วย เพราะเค้าไม่สามารถสื่อสารในสิ่งที่ทำให้คนอื่นเข้าใจได้ ทำให้คนอื่นไม่เข้าใจเขา ดูเหมือนอาม่าน้องต้าจะเข้าใจน้องต้ามากที่สุด รู้สึกแย่ที่ตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดี ไม่เข้าใจลูกและไม่ส่งเสริมพัฒนาการของลูกเท่าที่แม่คนหนึ่งจะทำได้ น้องต้ายังพูดไม่เก่ง พูดได้ไม่กี่คำ และพูดไม่ชัดหลายคำ ก็เลยสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวกับการถนัดซ้ายของเค้าไหม ปรากฎว่าลองไปค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตดู พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องดังที่ พ.ญ.พิกุล อาศิรเวช [1] เขียนไว้ว่า
“เด็กที่ถนัดซ้ายมีโอกาสจะมีปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษาอยู่แล้ว คืออาจมีโอกาสพูดช้าหรือพูดไม่ชัดอยู่แล้ว เนื่องจากเด็กถนัดซ้าย คือสมองซีกซ้ายซึ่งควบคุมร่างกายซีกขวายังพัฒนาไม่ถึงวุฒิภาวะ และสมองซีกซ้ายก็เป็นที่อยู่ของศูนย์การควบคุมภาษาด้วยค่ะ”
จากการสำรวจตัวเอง พบว่าตัวเองยังเป็นแม่ที่ไม่ดี จะพยายามตั้งใจ เข้าใจและให้เวลากับการเลี้ยงลูกมากขึ้น
ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาน้องต้าพูดช้า ได้ไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านหูแล้ว แพทย์ 2 ท่านที่เชี่ยวชาญด้านกายภาพทางหูและการได้ยินก็ลงความเห็นว่าหูของน้องต้าปกติ ในวันที่ 27 เมษายนนี้จะไปพบผู้เชี่ยวชาญในการฝึกพูด วิธีแก้ไขปัญหาเด็กพูดช้าตามที่ พ.ญ. วินัดดา ปิยะศิลป์ แนะนำมีดังนี้
1. พาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจเช็คพัฒนาการทุกด้าน
2. ในกรณีที่สงสัยว่ามีปัญหาการได้ยิน ควรตรวจการได้ยินทุกราย เพราะปัจจุบันเครื่องช่วยฟังสามารถช่วยเด็กให้ได้ยินเสียง และทำให้เด็กพูดตามออกมาได้ง่ายกว่า ในกรณีที่เด็กมีความบกพร่องในการรับรู้เสียง
3. ฝึกพูดโดยนักอรรถบำบัด และฝึกกระตุ้นพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ที่ช้า ไปพร้อมๆกันโดยนักกระตุ้นพัฒนาการ
4. ปรับสภาพแวดล้อมของเด็กให้เหมาะสม ถ้าคุณต้องการให้เด็กพูดได้ เด็กก็ต้องอยู่ท่ามกลางคนที่พูดกับเด็ก สบสายตา และมองหน้ามองตา คุยกันไป เล่นด้วยกันไปกับเด็ก อย่าปล่อยให้เด็กเล่นอยู่คนเดียวนาน ๆ
5. พ่อแม่แบ่งเวลามาฝึกฝนเด็กด้วยตนเอง เพราะจะไม่มีใคร อดทนกับลูกได้ดีเท่าพ่อแม่ การส่งเด็กไปให้ผู้เชี่ยวชาญฝึก ทำได้อย่างมาก 1 – 2 ครั้งต่อ 2 สัปดาห์ แต่ถ้าพ่อแม่ไปเรียนรู้วิธีการฝึกฝน และนำกลับมาฝึกสอนลูก จะทำให้ความสามารถในการพูด มองหน้า สบตากัน ดีขึ้น พาไปตรวจเช็คความคืบหน้าของความสามารถเด็กอย่างน้อยทุก 3 เดือน
แหล่งอ้างอิง
[1] พ.ญ.พิกุล อาศิรเวช เปลี่ยนลูกถนัดซ้ายให้ถนัดขวาทำให้ติดอ่างจริงหรือ…
[2] พ.ญ. วินัดดา ปิยะศิลป์ สารพันปัญหาเด็ก..ตอน..พูดช้า