กฐินแดนซากุระ
ต้องขออภัยที่ห่างหายไปนานค่ะ เนื่องจากภารกิจล้นพ้นตัว บวกกับปัญหาสุขภาพตามประสาคนผอมบางร่างน้อยในสภาวะอากาศที่หนาวเย็นค่ะ แต่ตอนนี้แข็งแรงดีแล้วหลังจากโด๊ปเวย์โปรตีนไปเพิ่มกรดอะมิโนและพลังงานให้กับร่างกายไปตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ก็เลยมีแรงมาโพสต์ต่อตามที่เจ้าคุณพ่อจอมป่วนเรียกร้องและรอคอยค่ะ
ก็เพิ่งผ่านไปหมาดๆ (อิอิ แค่เกือบจะ 1 เดือน) กับกฐินวัดภาวนาอิบาราขิ วัดที่ซากุระ ไปช่วยงานอยู่ประจำ แม้จะไกลแสนไกลก็ตาม เหตุผลที่เลือกไปที่นี่เพราะ เป็นวัดเล็กๆ เปิดได้ไม่นาน ไม่มีคนไปช่วย พี่ๆ ที่มาวัดก็ใจดี มีอาหารอร่อยๆ ที่ซากุระชอบมาฝากเสมอ และทุกคนก็น่ารัก เป็นกันเอง ปัจจัยน้อย แต่หัวใจเกินร้อยขอรับ ถ้าในบรรดาวัดในญี่ปุ่นนี่ วัดอิบาราขิได้ชื่อว่า “วัดบ้านนอก..ที่สุด” เราก็เลยอยู่กันอย่างบ้านนอกๆ ค่ะ
ถ้าสงสัยว่าบ้านนอกยังไง ต้องแวะมาดูคะ เราจะมีทั้งปลาร้าสับ ปลาร้าหลน น้ำพริกกะปิ ผัดผักบุ้งไฟแดง ฯลฯ อาหารทุกอย่างที่หาทานได้เกือบจะเฉพาะในเขตชนบทของไทย จะหาทานได้ที่นี่ อิอิ วัดของเราก็ล้อมรอบด้วย ป่าหอม ไร่ถั่ว และไร่ผักกาด เลยไปหน่อยก็เป็นนาข้าว อิอิ บ้านนอกหรือยังคะ ด้านหน้าวัดก็จะปลูกมะระ ฟักทอง ผักบุ้ง พริก มะเขือเทศ ฯลฯ ที่แม่ครัวบ้านนอกและใจดีปลูกไว้ เพื่อเป็นการประหยัดค่ากับข้าว เท่านั้นยังไม่พอ ซากุระยังนำทีมพี่ๆ ไปเก็บผักแถวริมตลิ่ง และริมป่ามาทานกันอีกด้วย แรกๆ พี่ๆ ก็โวยวายกันใหญ่ว่าเราทำอะไร “บ้านน๊อก บ้านนอก” แต่อย่างที่บอกว่า พอมีผู้นำก็มีกระแส หลังจากนั้นก็เก็บกันเป็นปรกติ และต่อๆ มาก็ไม่ต้องไปเก็บเพราะมีคนเก็บมาให้เลย อิอิ
อาหารโปรดของท่านเจ้าอาวาสก็ปีกไก่ทอด ขอบอกว่าปีกจริงๆ ปลายปีกที่แทบจะไม่มีเนื้ออยู่เลย คุณหมอเห็นคงกลัวพวกเราจะเป็นโรคเก๊ากันหมด เพราะแรกเริ่มเดิมที โรงงานแถวนี้เขาให้มา ก็ไม่มีคนอยากได้ แต่ซากุระเห็นแล้วโดดใส่เลย บอกให้แม่ครัวที่แสนรัก เอาไปหมักกระเทียม พริกไทย แล้วทอดให้กรอบ ซากุระซัดคนเดียวหมดจาน ต่อมาเมนูนี้ก็ได้ขึ้นโต๊ะเจ้าอาวาสด้วย แล้วก็มีการพัฒนาสูตรไปอีกหลายสูตร โดยหลายแม่ครัว และกลายเป็นอาหารแนะนำของวัดเราไปเลย อิอิ เห็นไหมคะ บ้านนอกแค่ไหน ของเหลือทิ้งจากโรงงานยังเอามาปรุงเป็นอาหารหรูขึ้นโต๊ะได้เลย
กลับมาที่เรื่องกฐิน แม้ว่าคนไทยแถวๆ นี้จะค่อนข้างทำงานกันหนัก แต่คนส่วนหนึ่งก็รักในการทำบุญ ทุกๆ เดือนเราจะมารวมตัวกันที่วัด แต่วันทอดกฐินจะเป็นวันพิเศษที่ทุกคนจะสละเวลากันมา และชวนเพื่อนๆ ที่รักมาด้วย ทางวัด (จริงๆ แล้วก็พวกเรากันเองนี่แหละค่ะ) ก็จะมีการออกร้าน ซึ่งเจ้าภาพก็เจ้าของร้านอาหารต่างๆ และพ่อบ้าน แม่บ้าน ที่รักการทำอาหาร ก็มาเปิดร้านกัน ปีนี้ก็มีสิบกว่าร้าน ทานฟรี ดื่มฟรี ตลอดงาน แต่ขอบอกว่าไม่มีเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นะคะ ถ้าแถวบ้านนอกเราเขาจะเรียกว่า เอาข้าวหม้อแกงหม้อมาเลี้ยงแขกกัน บรรยากาศการทานก็ไม่ต้องห่วงค่ะ ทานกันอย่างพี่น้อง มีอะไรก็ไปหามาตั้งวงกันก็มี เดินชิมร้านนั้นออกร้านนี้ก็มี บ่ต้องเกรงใจกัน ทานให้เต็มที่กันไปเล้ยยยย อ้าว กลับมาเรื่องกินอีกแล้ว ไหงเป็นงี้หว่า
วันทอดกฐินของวัดภาวนาอิบาราขิตรงกับวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 9 ค่ะ อากาศก็ครึ้มๆ มีฝนปรอยมานิดๆ ช่วงทานข้าวกลางวัน แต่ก็ไม่ตกจริงจัง แต่อากาศหนาวเย็นจับขั้วหัวใจ เสียดายน่าจะมีหิมะตก จะได้สวยไปอีกแบบ ไม่หนาวฟรี งานก็เริ่มตั้งแต่ลงทะเบียนเวลา 9 นาฬิกา ตักบาตรเวลา 10 นาฬิกา สวดมนต์ทำวัตรเช้าเวลา 11.15 นาฬิกา นั่งสมาธิประมาณ 30 นาที พระอาจารย์แจ้งกำหนดการกฐินแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธีภาคเช้า ส่วนการทอดกฐินจริงๆ จะเริ่มภาคบ่ายหลังจากทานอาหารกลางวันกันเรียบร้อยแล้ว
วันงานคนมากันประมาณ 300 คนค่ะ มีทั้งไทย ญี่ปุ่น ศรีลังกา และนิวซีแลนด์ มีทั้งที่อยู่แถบนี้ และที่มาจากจังหวัดไกลออกไป แต่วัดเราเป็นวัดเล็กๆ จุคนได้แค่ 70 คน (ผู้ชำนาญการว่างั้น) แต่ไม่เป็นไร ซากุระซะอย่าง บอกน้องๆ ให้ช่วยกันจัดพื้นที่ให้รับคนให้ได้ 200 คน จะทำยังไงล่ะหว่า น้องๆ ส่ายหน้า มันจะได้หรือพี่ ห้องเราเล็กนิดเดียว น้องๆ ลังเล เพราะกลัวคนมาร่วมงานจะนั่งไม่สบาย โอ้ มันไม่มีทางเลือกแล้วน้องรัก เพราะพอถึงเวลานั่งซ้อนกันก็ยังดีกว่าได้ไปยืนรอนอกวัด นั่นคือสิ่งที่เราคุยกันก่อนวันงานหนึ่งคืน แต่พอถึงวันงานจริงๆ คนมากันแต่เช้า เราก็เตรียมอาหารเช้ารออยู่แล้ว ด้วยฝีมือเจ๊หว่อง และน้องๆ มาทอดปาท่องโก๋ กะปั้นข้าวปั้นกันแต่ไก่ยังไม่โห่ (จุ๊ๆ ส่วนซากุระ อายุเยอะแล้ว ขอแอบงีบต่อสักหน่อย) เวลา 9 โมงเช้า คนมานั่งกันเต็มพื้นที่แล้ว ตายละหว่า ยังจัดที่นั่งไม่เสร็จเลย คนมาล้นแล้ว เราต้องเชิญพี่ๆ ออกไปตักบาตรในลานตักบาตรที่จัดไว้ข้างนอกก่อน ส่วนในอาคารจะได้จัดที่นั่งได้ ไม่ว่าจะย้ายสมาชิกไปที่ไหน ก็ล้นเต็มไปหมดเลย น่าปลื้มใจจริงๆ หนาวแค่ไหน ก็ไม่มีถอย ทุกคนพร้อมใจกันมาร่วมพิธีทอดกฐินกันอย่างเบิกบาน ไม่มีทะเลาะกันเลย โดนย้ายที่กี่ทีๆ ก็ไม่มีบ่นเพราะมันเต็มจริงๆ (อีกอย่างคนย้ายก็น่ารักด้วยแหละ อิอิ) พี่ๆ ที่มาวัดประจำก็น่ารักมาก เสียสละให้คนไม่ค่อยได้มาวัดเข้าไปอยู่ใกล้ๆ พระ ตัวเองเสียสละ เก็บข้าวเก็บของอยู่ด้านนอก เพราะเข้าไปในอาคารของวัดไม่ได้ นั่งแล้วห้ามลุก ลุกแล้วหมดสิทธิ์กลับเข้าที่เดิม เพราะคนข้างๆ ก็จะไหลเข้ามาอีกเรื่อยๆ ร่วมบุญกันอย่างอบอุ่นมากค่ะ ทุกคนยิ้มแย้มเบิกบาน รับของที่ระลึกติดไม้ติดมือกันกลับบ้านอย่างมีความสุข
ส่วนซากุระหรือคะ ปลื้มแล้วปลื้มอีก แต่ตอนทำงานจริงๆ นั้น แทบจะเป็นลมไปหลายรอบ เพราะคนเยอะมากจริงๆ อ้อ ลืมบอกไปซากุระรับผิดชอบดูแลเรื่องพิธีกรรมตลอดงาน คือพยายามให้พิธีกรรมต่างๆ ดูดี ราบรื่น ปลื้มกันทั้งคนจัดและคนร่วมงาน ก็เลยจะหนักหน่อยในวันงาน ส่วนน้องๆ ก็จะเตรียมงานกันหนักก่อนวันงาน พอวันงานก็สบายเพราะไม่ต้องทำอะไรมาก
งานที่หนักที่สุดของซากุระคือดูแลคน ดูแลประธานและประธานรอง โดยเฉพาะกลุ่มของประธานรองที่ไม่ได้แจ้งรายชื่อมาแต่ต้น แต่มาแจ้งเพิ่มภายหลังซึ่งก็งอกเงยๆ จนซากุระจัดขบวนแห่ผ้าไตรกฐินแทบจะไม่เสร็จเพราะมีทยอยเข้ามาแจ้งเรื่อยๆ พื้นที่ๆ จัดไว้สำหรับกลุ่มประธานรองก็ไม่พอ แม้จะจัดเผื่อแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นไร ทุกคนรับได้ ไม่ได้นั่งดีก็ไม่ว่าขอให้ได้เป็นประธานรองและได้ร่วมในพื้นที่เป็นพอ น่ารักกันจริงๆ ค่ะ บางคนมาแจ้งตอนซากุระสรุปชื่อแล้ว ส่งชื่อให้น้องพิธีกรไปเรียบร้อย ก็มี ไม่เรียกชื่อไม่เป็นไร ให้พี่ได้ถวายเถอะ
ถ้าเป็นที่วัดอื่นชุดประธานและประธานรองนี่เขาก็จะได้นั่งที่นั่งพิเศษ ไม่เบียดกับใคร แต่นี่เราไม่มีพื้นที่เหลือเลย พยายามกันไว้ให้แล้ว แต่มันล้นจริงๆ ทั้งประธานและประธานรองก็ต้องนั่งเบียดเสียดแทบจะซ้อนกันเลยค่ะ เรียกว่าขอให้มีพื้นที่ให้แทรกได้ก็พอใจแล้วค่ะ เห็นแล้วปลื้มจริงๆ และซากุระรู้สึกว่าโชคดีที่เลือกมาอยู่วัดบ้านนอก เพราะคนบ้านนอกก็แบบนี้แหละค่า “น่ารัก”.
เสร็จพิธีทอดกฐินเราก็ทำพิธีถวายสลากภัตแก่พระภิกษุทั่วทั้งเกาะญี่ปุ่น โอ้ ได้เฮกันสนั่นอีกแล้ว เพราะลุ้นกันสุดขีดว่าประธานกองสลากภัตแต่ละกองนั้นจะได้นำปัจจัยที่ตัวเองสะสมมาด้วยความลำบากนั้นไปถวายแก่พระรูปใด ซึ่งมีอยู่กระจายทั่วเกาะ ทั้งในอิบาราขิ โตชิหงิ นากาโน่ โตเกียว ไซตามะ คานากาว่า และโอซาก้า เห็นไหมคะว่าวัดบ้านนอกนี่ ใจกว้าง ขยายไปทั้งเกาะเลย ถึงตัวเล็กก็ใจใหญ่ค่ะ
เสร็จจากกิจกรรมงานบุญแล้วก็มาถึงคิวของคนมาร่วมงานละ ทุกคนที่มาร่วมงานจะได้รับของที่ระลึกกลับบ้านกันทุกคน แม้จะไม่ถวายสักกะเยนเดียวก็ตาม (1 เยน เท่ากับ 34 สตางค์) เท่านั้นยังไม่พอ ยังให้โอกาสทุกคนได้ลุ้นโชคด้วย เพราะเจ้าอาวาสจะจับสลากมอบของขวัญพิเศษให้กับคนที่มาร่วมงานด้วย ซึ่งก็มีประมาณ 20 ชิ้น ก็ลุ้นกันสนุกสนาน ส่วนซากุระ ไม่ได้กะเขาเลย ว๊า บุญยังน้อยแฮะ ต้องขยันทำบุญสลากภัตกะเค้าบ้างแล้ว เขาว่ากันว่าคนที่อยากถูกหวยนี่ ต้องขยันทำบุญสลากภัตบ่อยๆ จะได้มีลาภลอยเสมอๆ อิอิ
เสร็จภารกิจทุกคนก็แยกย้ายกันกลับบ้าน กว่าจะลากันเสร็จก็ปาไปเกือบหกโมงเย็น เพราะบางทีมมาจากที่ไกลๆ นานๆ ได้เจอกันที ก็ลากันนานหน่อยค่ะ น้องๆ ที่มาช่วยงานก็เก็บงานกันต่อไป ส่วนซากุระก็ต้องรีบกลับบ้านแล้ว เพราะวันจันทร์ต้องทำงานต่อ กลับมาก็ป่วยงอมแงมเลย เลยต้องมานั่งเขียนบันทึกอยู่นี่หละค่ะ เพราะทำงานบ่ไหว
ปล บันทึกนี้เขียนไว้นานแล้วแต่รอภาพประกอบค่ะ เลยเอามาโพสต์ช้าไปนิดค่ะ
« « Prev : Olympic
5 ความคิดเห็น
อ่านแล้ว อิ่มบุญ อิอิ
ตามหมอจอมป่วนมาด้วย อิอิ ทำบุญแล้วเราก็อิ่มใจด้วย คนอ่าน ก็อิ่มเอม
ราณีก็ไปมาเหมือนกันที่วัดเขากระไดม้า ที่อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ตามไปอ่านได้ที่ คณะกฐิน(1)ต้อนรับสู่สองแคว และที่ คณะกฐิน(2)เดินขึ้นวัดเขากระไดม้า
ลิ้งค์ไม่ติดแฮะ เอาใหม่ 1.http://lanpanya.com/rani/archives/44
2.http://lanpanya.com/rani/archives/47
ไม่ติดอะไปดูที่ลานหุยเฮ (ฮา)กับลานราณีละกันนะคะ
ขอบคุณค่ะพี่ราณีที่แวะมาเยี่ยมค่ะ และขอกราบอนุโมทนาบุญด้วยค่ะ แล้วจะแวบไปเก็บตกบุญที่วัดเขากระไดม้าด้วยคนค่ะ