การทำความดีไม่ควรรอเวลา

1 ความคิดเห็น โดย noina เมื่อ 20 January 2011 เวลา 12:35 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2906

                    

ในระหว่างวันที่ 12-16 มกราคม 2554 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานมูลนิธิพุทธฉือจี้ (Tzu Chi Foundation) ประเทศไต้หวัน เคยได้ยินแต่ชื่อเสียงเรื่องการสร้างพลังศรัทธา และเรื่องจิตอาสา ครานี้ได้ไปดูและเห็นกับตา ตนเองทำให้เกิดความรู้สึกดีในหลายๆ เรื่องด้วยกัน ในที่นี้ขอเล่าถึงเรื่องราวประทับใจในประเด็นการสร้างเสริมคุณธรรมและจริยธรรมที่สำคัญในการดำเนินชีวิตก็แล้วกัน

มูลนิธิพุทธฉือจี้ให้ความสำคัญกับการทำความดีโดยได้นำเอาคุณธรรมที่เป็นนามธรรมและแปลงไปสู่การปฏิบัติจริงที่เห็นผลได้ชัดเจน มูลนิธิพุทธฉือจี้มีอายุกว่า 40 ปี เป็นสำนักพุทธนิกายมหายานที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดของไต้หวัน (มีมากกว่า 10 สำนักใหญ่ด้วยกัน) โดยมีธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนซึ่งเป็นภิกษุณี เป็นผู้นำ ปัจจุบันอายุ 73 ปี และท่านเคยได้รับรางวัลแม็กไซไซจากงานที่ทำนี้เมื่อประมาณ 14 ปีที่แล้ว

มูลนิธิพุทธฉือจี้ทำงาน 8 ประการในปัจจุบันด้วยกัน คือ (1) งานการกุศล (2) งานการแพทย์ (มีโรงพยาบาล 6 แห่ง) (3) งานการศึกษา (มีโรงเรียนอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ที่ผลิตแพทย์และบัณฑิตทางสังคมศาสตร์) (4) งานด้านมนุษยธรรม (5) งานบรรเทาทุกข์สากล (6) ธนาคารไขกระดูก (7) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (8) อาสาสมัครชุมชน

คุณธรรมสำคัญที่ทางมูลนิธินำมาปฏิบัติให้เห็นผลชัดเจนคือ พรหมวิหารสี่  ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

เมตตา คือความต้องการเห็นผู้อื่นเป็นสุข โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา ดังจะเห็นได้จากการที่มูลนิธิพุทธฉือจี้ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากทั่วทุกประเทศ โดยคำสอนที่สำคัญมุ่งเน้นให้ทุกคนมีความรักต่อกัน โดยในโลกนี้ไม่มีใครที่เราจะไม่รัก ไม่ศรัทธา หรือไม่เชื่อใจ  ความรักสามารถนำพาทุกสิ่งไปในทางที่ดีได้

กรุณา คือสอนให้รู้จักการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน มูลนิธิพุทธฉือจี้ มีเป้าหมายที่สำคัญในการ “สอนคนรวยและช่วยเหลือคนจน” คนที่มีพร้อมควรเผื่อแผ่คนที่ยากไร้ การช่วยปลดเปลื้องความทุกข์จากการเจ็บป่วยถือเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนไปด้วย โดยการให้ในสิ่งเล็กๆน้อยๆ ของบุคคลหนึ่งอาจจะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่สำหรับอีกคนหนึ่งได้

มุทิตา คือ ความยินดีในธรรมะและความสงบสุขที่ได้ปลูกฝังแก่สังคม เมื่อสามารถช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ได้ ก็จะเกิดมุทิตาซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสุขใจจากการที่เราได้ทำความดี ได้ช่วยเหลือผู้อื่น มุทิตาจึงเปรียบเสมือนยาชูกำลังในการทำความดี

อุเบกขา คือการวางเฉย เมื่อให้การช่วยเหลือผู้อื่นแล้วไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ และในกรณีที่เราไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ก็ควรวางอุเบกขาทำวางใจให้เป็นกลาง และพิจารณาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมที่ได้เคยกระทำไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม กรรมนั้นย่อมส่งผลอย่างยุติธรรมตามที่เขาผู้นั้นได้เคยกระทำไว้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้จริยธรรมหรือสิ่งที่ดีงามที่ทุกคนพึงกระทำที่สำคัญมีสองประเด็นที่สำคัญที่คนเราไม่ควรรอเวลา นั่นคือ “ความกตัญญูกตเวทีและการทำความดี” ประเด็นความกตัญญูกตเวทีนี้เองทำให้นึกถึง เรื่องเล่าของครูปู เรื่อง “อายที่มีแม่แก่” ถ้าหากเราละเลยที่จะกตัญญูต่อผู้มีพระคุณของตัวเองเพียงเพราะอายเพื่อน แล้วเราจะหันมาดูแลท่านตอนไหนในเมื่ออายุของท่านก็มากขึ้นทุกวันๆ ความละอายควรมีไว้สำหรับการกระทำในสิ่งไม่ดี นั่นคือ “หิริ โอตตัปปะ” ส่วนความกตัญญูกตเวทีไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นเรื่องน่าชื่นชมต่างหาก และเป็นเครื่องหมายที่การันตีได้ถึงความเป็นคนดีของคนเราอีกด้วย

ส่วนในประเด็นการทำความดีไม่ควรรอเวลา ทำให้นึกถึงคำพูดของนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ถามขึ้นมาในระหว่างทำกิจกรรมกลุ่มที่สวนป่า ว่า “ ทำไมอาจารย์ทุกท่านอายุก็ยังไม่มาก แถมยังอยู่คนละที่กัน ทำไมถึงได้คิดมาช่วยกันทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมถึงได้ ” คำตอบมันชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้วว่า การทำความดีไม่ควรรอเวลา แม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆน้อยๆ แต่ถ้าเริ่มจากจุดเล็กๆ ในที่สุดก็จะนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคมได้

สรุปสาระสำคัญสั้นๆ ของหลักคำสอนของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่เห็นด้วยอย่างยิ่งคือ “ในสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี การกำจัดคนไม่ดีนอกจากจะทำได้ยากแล้ว ยังเสียเวลา สู้ส่งเสริมการทำความดีและสร้างคนดีให้มีในสังคมเพิ่มมากขึ้นน่าจะดีกว่า เพราะนั่นคือคนไม่ดีจะเริ่มลดน้อยลงไป สุดท้ายสังคมก็จะมีแต่คนดีและมีความสงบสุขได้”

การไปศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ อีกแล้วครับท่าน…อิอิอิ


เวลาเดินเท่ากัน

1 ความคิดเห็น โดย noina เมื่อ 3 January 2011 เวลา 10:40 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2398

 



    

หลังจากที่หยุดพักผ่อนมาหลายวัน เป็นช่วงสุขสันต์ที่ได้อยู่กับครอบครัวที่รัก ได้ใช้เวลาอยู่กับแม่และพี่ๆ และหลานๆ ในคืนข้ามปี อ้อยังมีเจ้าหมูแฮม สมาชิกในบ้านอีกหนึ่งชีวิต (ลูกหมาที่ต้องเสียหมาตั้งแต่เกิด เพราะถูกตั้งชื่อให้เป็นหมูทั้งๆ ที่เป็นหมา) ข้อดีของเจ้าหมูแฮมคือการทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องพิเศษได้ นั่นคือการเกาะแข้งเกาะขาเจ้าของ เหมือนจะอ้อนขอความรักยังไงยังงั้น และก็อดไม่ได้ที่จะต้องอุ้มเจ้าหมูแฮมมากอดทุกที ในบางเวลาที่บ้าๆบอๆ นั่งหัวเราะหน้าจอคอมพิวเตอร์ขณะคุย FB กับสมาชิกชาวเฮ เจ้าหมูแฮมก็มาสะกิดขาเหมือนอยากจะร่วมแจมในวงสนทนาด้วย ภายหลังจากพลัดตกบันไดก็มีเจ้าหมูแฮมมานอนเคลียคลออยู่ใกล้ๆ ด้วยความเป็นห่วง ทำให้นึกถึงคำพูดคุณหมอจอมป่วน “แม้แต่หมามันยังรู้ว่าใครรักมัน” ความรักนี่เป็นภาษาสากลที่รับรู้ได้ด้วยการสัมผัสโดยแท้ นั่นคือการโอบกอด นั่นเอง

เวลาแห่งความสุขกำลังจะหมดไปแล้วเพราะพรุ่งนี้เป็นวันทำงาน ต้องจากบ้านด้วยความจำใจ วันนี้ยังมีเวลาว่างอีก 1 วัน เลยถือโอกาสจัดระเบียบข้อมูลในคอมพิวเตอร์ให้เป็นหมวดหมู่ซะหน่อย เข้าไปค้นเพลงเก่าๆ ที่เคยชื่นชอบและเก็บไว้ในอัลบั้มเพลงส่วนตัวมาเปิดฟัง ปกติแล้วไม่ได้ชื่นชอบศิลปินคนใดเป็นการส่วนตัว เพียงแต่ฟังเพลงไหนเข้าแล้วประทับใจในเนื้อความของบทเพลง ความหมายของเพลงที่ศิลปินพยายามจะสื่อให้คนฟังได้เข้าใจ ก็จะสรรหามาเก็บเอาไว้เปิดฟังในยามพักผ่อน บางเพลงยังสามารถนำไปใช้เป็นสื่อการสอนได้ดีอีกด้วย วันนี้ฟังเพลง “เวลาเร็วเท่ากัน” ซึ่งเป็นเพลงของคุณเอ็ม อรรถพล ประกอบของ เดอะสตาร์ 2 อัลบั้มไหนก็จำไม่ได้ รู้แต่เพียงว่าเพลงนี้ทำให้เกิดไอเดียบรรเจิดในการเขียนบันทึกของวันนี้

กว่าอะไรจะพ้นเลยผ่าน…ในวันที่เสียใจมา
ทำไมมันดูช้า…และยาวนานอย่างนี้…กว่าจะผ่านวินาที

แต่ในวันที่ใจนั้นสุข…อะไรดูจะหมุนเร็วไว
ถ้าใครเป็นอย่างนี้ลองคิดดูใหม่…ไม่ใช่เวลาที่ลำเอียง

ทุกวัน…มันจะสุข-ทุกข์ เท่าไหร่…เวลาก็ยังหมุนเดินไป
เหมือนเดิม…ไม่เคยเดินช้า หรือ เร็วกว่าที่เป็น
อยู่ที่ใจ…ถ้าใจเราไม่คิดไปก่อน..ก็คงได้รู้แน่นอน
จะได้พบเรื่องดีๆ หรือ เสียใจ…เวลาก็ไม่เร็วไปกว่ากัน

เมื่อในวันที่ใจฉันเจ็บ…จากการโดนบางคนทิ้งไป
ก็มองว่าเวลาเวียนหมุนช้าได้…แต่ก็เข้าใจในวันนี้

ทุกวัน…มันจะสุข-ทุกข์ เท่าไหร่…เวลาก็ยังหมุนเดินไป
เหมือนเดิม…ไม่เคยเดินช้า หรือ เร็วกว่าที่เป็น
อยู่ที่ใจ…ถ้าใจเราไม่คิดไปก่อน..ก็คงได้รู้แน่นอน
จะต้องพบเรื่องดีๆ หรือ เสียใจ…เวลาก็ไม่เร็วไปกว่ากัน

นั่งฟังเพลงและคิดตาม (แอบเคลิ้มมมม…อิอิอิ) อืมมม จริงด้วย เวลาเร็วเท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เราสุขหรือทุกข์ใจ มันอยู่ที่ใจของเราต่างหากที่คิดไปเองว่า ช่วงเวลาแห่งความสุขมันแสนสั้น และเวลาแห่งความทุกข์นั้นมันยาวนาน ในช่วงนี้ได้รับบทศิราณีจำเป็นเฉพาะกิจบ่อยๆ ก็เข้าใจความรู้สึกของคนที่ผิดหวังกับหลายๆ เรื่อง ถ้าเขาได้ฟังเพลงนี้ จะรู้สึกดีขึ้นบ้างไหมนะ หลายคนบอกว่าเวลาจะรักษาทุกอย่างให้ดีขึ้น เวลาเราต้องการลืมอะไรที่เลวร้ายก็มักจะขอใช้เวลาเป็นตัวช่วย ในช่วงเวลาที่ไม่แน่ใจอะไรขึ้นมาก็บอกว่าจะให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ความจริงมันไม่น่าจะใช่เลย ที่เราคิดว่าเวลาช่วยให้ลืมสิ่งต่างๆ ได้ เป็นเพราะเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นน้อยลงต่างหาก เวลาทำให้คนเข้าใจกันนั่นเป็นเพราะเราได้ผ่านการใช้เหตุผลใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้นโดยใช้สติต่างหาก เวลาที่เราทุกข์ระทมเป็นเพราะเราจมอยู่แต่กับความรู้สึกที่ไม่ดีทั้งหลาย จนหลงลืมไปว่าช่วงนั้นเราใช้เวลาสิ้นเปลืองไปโดยเปล่าประโยชน์

บทเพลงบางเพลงบางครั้งก็มีความหมายมากกว่าเพลง ยังเป็นบทเรียนสอนให้เราคิดตามได้อีก นึกขอบคุณวันเวลาที่ผ่านมาอยู่เหมือนกันที่ได้นำพาชีวิตให้ไปพบเจอสรรพสิ่งทั้งหลาย เหตุการณ์ที่ประทับใจ และได้พบเจอผู้คนที่น่ารักและจริงใจ เวลานำพาสิ่งที่มีคุณค่าให้เกิดแก่ชีวิตหลายๆเรื่อง แต่ก็เสียดายเหมือนกันที่บางครั้งได้ปล่อยเวลาให้สูญเปล่าไปโดยไร้ประโยชน์ เลยตั้งใจไว้ว่าต่อไปนี้จะพยายามใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อตนเองและคนรอบข้างตลอดจนสังคมและประเทศชาติ วันนี้ยังมีเวลาเหลืออีกหลายร้อยนาทีที่จะสร้างความสุขสันต์ในเทศกาลแห่งความสุขเพื่อจะได้ใช้เป็นต้นทุนกำลังใจในการใช้ชีวิตในวันเวลาที่ยังเหลืออยู่ ต่อไปอย่างคุ้มค่า……


ก้าวที่พลาดไป

2 ความคิดเห็น โดย noina เมื่อ 3 January 2011 เวลา 12:02 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2373

 


    วันนี้ได้หัวข้อการเขียนบันทึกจากประสบการณ์ตรง เพราะความประมาทจึงเป็นที่มาของความผิดพลาดจนทำให้เจ็บตัว เรื่องมีอยู่ว่าวันนี้มีอุบัติเหตุที่นานทีหลายปีถึงจะเกิดสักหน จำไม่ได้เหมือนกันว่าก้าวเดินยังไงถึงได้พลาดพลัดตกบันไดบ้าน เคราะห์ยังดีที่ตกแค่สามขั้น (ถึงไม่ใช่โชคสามชั้นแต่ก็ยังถือว่าโชคพอจะมีอยู่) ผลกระทบจึงแค่ฟกช้ำเท่านั้นเอง นึกโทษตัวเองในใจถ้าไม่ประมาทเดินถือของสองมือก็คงไม่เป็นเช่นนี้ บันใดมีราวให้จับแต่ดันไม่จับ เลยต้องยอมรับความเจ็บปวดเช่นนี้ (อูยยยย..)

หลายๆ คนก็คงจะเคยมีความรู้สึกแบบเดียวกัน การก้าวพลาดทำให้เราเจ็บกาย แต่ความผิดพลาดทำให้เจ็บใจ เมื่อเราตกบันใดไปแล้วก็คงยากที่จะแก้ไขอะไรได้ ความเจ็บปวดเกิดขึ้นแล้วเอาคืนไม่ได้ มีแต่จะทำอย่างไรที่จะรักษาบาดแผลที่เกิดขึ้นให้หายเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ครั้นจะสร้างบันใดที่มีความปลอดภัยสูงกว่าเดิม แต่ถ้าหากเราประมาทเลินเล่ออีกก็ย่อมจะพลัดตกได้อีกในวันข้างหน้า ซึ่งเปรียบได้กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรที่เกิดขึ้นแล้วได้ ความเสียใจในความผิดพลาดก็คงจะเรียกกลับคืนมาไม่ได้เช่นกัน คำตอบที่พอจะเป็นไปได้มีเพียงทำใจยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นซ้ำรอยเดิมอีก

จะเห็นได้ว่าตัวเราเองคือสาเหตุของปัญหาและผลที่เกิดก็เกิดกับตัวเราเช่นเดียวกัน ร่องรอยของความเสียใจกับความผิดหวังในอดีตจะลบเลือนได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถปรับตัวได้ดีแค่ไหน การที่จะปรับตัวได้เราต้องรู้ตัวเอง รับรู้ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง และทำความเข้าใจด้วยเหตุและผล เฉกเช่นเดียวกับรอยฟกช้ำที่เกิดขึ้นจากการก้าวพลาดตกบันได มันจะหายไปอย่างรวดเร็วได้หากเราเข้าใจและเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง การปฐมพยาบาลที่ดีจะไม่ทำให้เหลือรอยฟกช้ำไว้เตือนความทรงจำอยู่นาน เช่นเดียวกับคนที่สามารถปรับความคิดความเข้าใจของตัวเองได้จะไม่ทุกข์ระทมกับความขื่นขมในสิ่งผิดพลาดอย่างเป็นวรรคเป็นเวร

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองทั้งสิ้น พอมานึกทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็พบว่ามีหลายเรื่องเหมือนกันที่เราขาดทุนเพราะเกิดความทุกข์ใจมากกว่าสบายใจ และเหตุการณ์แต่ละครั้งมักจะรบกวนจิตใจอยู่หลายเพลาเหมือนกัน คอยคิดถึงแต่สิ่งที่ผิดพลาดและนำมากดดันและบั่นทอนกำลังใจตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีก เสียใจเสียความรู้สึกแต่ไม่มีอะไรดีขึ้นมา นึกโทษคนอื่นก็แล้วแต่ก็ไม่ได้ทำให้สบายใจขึ้น บางครั้งส่งผลให้เกิดความเฉยชาและเหนื่อยหน่าย (อาการเหนื่อย+เบื่อหน่าย) ซึ่งอาการเหล่านี้เองเป็นบ่อนทำลายกระบวนการทำงานอย่างยิ่งยวด ก่อให้เกิดความเฉื่อย และพัฒนาการด้านลบในการทำงาน หากปล่อยไว้จะเกิดอันตรายอย่างยิ่ง ทางแก้ไขคือต้องรีบชาร์ตแบตเตอรี่อย่างเร่งด่วน การชาร์ตแบตเตอรี่ที่ว่านี้คือ “กระบวนการฟื้นคืนสติให้กับตนเอง” นั่นเอง

    ทุกครั้งที่เกิดปัญหาเช่นนี้กับตัวเอง ถือว่าโชคยังดีที่มีคนคอยเตือนสติให้คิดได้ บุคคลที่เป็นกำลังใจที่สำคัญ คอยโอบกอดและพร้อมให้สวมกอดตลอดเวลาด้วยความเต็มใจและสมยอม และเป็นอ้อมกอดที่อบอุ่นที่สุดในโลก คนผู้นั้นก็คือแม่สุดที่รักของข้าพเจ้านั่นเอง ทุกครั้งที่ได้กอดท่านทำให้มีกำลังใจที่เกินร้อย (แรงส์ ยิ่งกว่า M 150 เสียอีก….. อิอิอิ) แม่จึงเป็นคนสำคัญที่สุด แม้แต่อาการเจ็บตัวครั้งนี้ก็เช่นกัน แม่คือผู้ให้พยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ รอยฟกช้ำแทบไม่มีให้เห็นเพราะแม่รีบประคบเย็นทันทีหลังเกิดเหตุ ณ เวลาแห่งความเจ็บปวดในตอนนี้ยาต้านการอักเสบขนานใดสรรพคุณก็ไม่อาจเทียบเท่ากับยาใจจากแม่ได้เลย ถึงจะเจ็บทั้งตัวแต่ก็รักหมดทั้งใจนะจุ๊บ จุ๊บ (JJJ)


สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๔

6 ความคิดเห็น โดย noina เมื่อ 1 January 2011 เวลา 12:07 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2501


 

ศุภฤกษ์เบิกดิถีขึ้นปีใหม่

อวยพรชัยด้วยบทกลอนอักษรศรี

ให้ประสพพบพานแต่สิ่งดี

ให้ชีวีราบรื่นแสนชื่นบาน

ให้การงานก้าวไกลภัยแคล้วคลาด

เปิดศักราชปีห้าสี่ที่สดใส

สุขสดชื่นรื่นอารมณ์สมฤทัย

ขอเทพไท้ทั้งผองคุ้มครองเอย…


ถึงเวลาจะเปลี่ยนไปแต่จิตใจเป็นสุข

2 ความคิดเห็น โดย noina เมื่อ 26 December 2010 เวลา 9:21 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2081


        เรื่องที่เขียนในวันนี้ ได้แนวคิดจากปัญหาของเพื่อนคนหนึ่ง ที่มีความทุกข์และได้บอกกล่าวเล่าสู่ฟัง ทำให้ต้องแสดงบทบาทศิราณีจำเป็นเฉพาะกิจ คนเราบางครั้งมีเมื่อมีความทุกข์ใจอันเกิดจากความคิดของตนเอง ก็มักจะคิดหมกมุ่นอยู่กับตนเอง วนเวียนไปมาหลายรอบ (มากกว่าการเวียนเทียนซะอีก) การช่วยเหลือทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการทำหน้าที่เป็น Recycle bin อย่างน้อย ๆ เขาก็คงจะรู้สึกโล่งขึ้นมาบ้าง (เลยจัดการมัดปากถุงให้เรียบร้อยเพื่อส่งให้เทศบาลกำจัดให้ถูกวิธีต่อไป)

        ใกล้จะถึงปีใหม่อีกแล้ว หลายคนดีใจที่จะได้เฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ หลายคนคาดหวังว่าปีใหม่จะได้พบเจออะไรที่ดีกว่าปีเก่า เพื่อนคนนี้ก็คงเช่นเดียวกัน คิดคาดหวังในทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสร้างความพอใจให้กับตนเอง แต่จะมีสักกี่คนไหมนะที่จะคิดทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ที่ตนเองได้ผ่านมาตลอดระยะเวลาของปีเก่า ว่ามีอะไรบ้างที่ตนเองทำได้ดีและภูมิใจ อะไรบ้างที่เป็นข้อบกพร่องหรือผิดพลาดที่ทำให้ตนเองเสียใจ เคยลองเปรียบเทียบดูไหมว่า สิ่งไหนมันมากกว่ากัน

       ในการทำงานเรายังมีการประเมินผลเมื่อครบกำหนดตามเป้าหมายของระยะเวลาในวงรอบในแต่ละปี ถ้าชีวิตคนเราเป็นเช่นเดียวกันได้ก็น่าจะดี มีใครเคยประเมินการใช้ชีวิตในรอบปีหนึ่ง ๆ ของตนเองบ้างไหม??? ว่าเราใช้ชีวิตในรอบปีได้อย่างคุ้มค่าหรือไม่??? หากเรามีเรื่องราวที่ทำให้เกิดความสุขและภาคภูมิใจมากกว่าเรื่องราวที่เสียใจนั่นคือการดำเนินชีวิตในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาเราได้กำไรในการใช้ชีวิต แต่หากเรามีเรื่องผิดพลาดหรือเสียใจมากกว่านั่นคือเราขาดทุนในการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะได้กำไรหรือขาดทุนความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่าเราเคยถอดบทเรียนชีวิตตัวเองบ้างหรือไม่ว่าปีที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตคุ้มค่าในเรื่องใดบ้าง ถึงแม้เราจะขาดทุนเพราะเวลาที่ผ่านมาเรามีความทุกข์มากกว่าความสุขแต่เราได้เรียนรู้จากความทุกข์ตรงนั้นได้ นั่นคือความคุ้มค่าของชีวิตในหนึ่งปี

       ตลอดระยะเวลา 365 วัน จำได้ไหมว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง เคยร้องไห้เสียน้ำตาไปกี่ครั้ง ดีใจและยินดีสุด ๆ ในเรื่องใด ได้บอกรักใครและแสดงความรักต่อใครไปแล้วบ้าง เคยทำอะไรให้ใคร ๆ เสียใจกี่ครั้ง ได้เดินทางไปสถานที่ใดบ้างและการเดินทางครั้งใดที่ประทับใจที่สุด ใครที่ทำให้เราดีใจหรือเสียใจ หนึ่งปีที่ผ่านมาเรามีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นกี่คน เราได้ติดต่อเพื่อนเก่า ๆ บ้างไหม และเราสูญเสียใครไปแล้วบ้างในปีที่แล้ว ฯลฯ

      เรื่องราวสิ่งดี ๆ ทุกคนอาจจำได้แม่น แต่เรื่องความผิดพลาดที่ผ่านมาล่ะ เราควรจดจำไหม??? บางคนคิดว่าไปคิดให้มันเปลืองสมองทำไม จะให้คิดถึงเรื่องความผิดพลาดหรือความบกพร่อง เราควรจะลืมมันไปไม่ดีกว่าหรือ ความจริงคนเราทำเช่นนั้นได้ลำบาก อะไรที่อยากลืมก็กลับจำได้อย่างแม่นยำ แต่เรากลับเลือกจดจำจุดที่มันบั่นทอนความรู้สึกของตนเอง ความทุกข์มันจึงมีมากขึ้น ถ้าหากเปลี่ยนจุดคิดนิดแค่เดียวก็จะเกิดประโยชน์ได้มาก นั่นคือการคิดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาดเหล่านั้นมากกว่าการคิดถึงผลของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ในเมื่อลืมมันไม่ได้ก็ควรคิดถึงจุดที่ก่อให้เกิดการพัฒนา นั่นคือ “เหตุแห่งทุกข์

      เมื่อเราเปรียบเทียบสิ่งที่ผ่านมาแล้วโดยคร่าว ๆ หากสิ่งที่ผิดพลาดนั้นสำคัญ ลองมองหา “เหตุแห่งทุกข์” เพราะเรารู้เหตุของความผิดพลาดที่ผ่านมา เราย่อมรู้หนทางที่จะพัฒนาสิ่งนั้นให้ดีขึ้นในปีใหม่ได้ การเปลี่ยน แปลงที่ง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง เพราะการจะเปลี่ยนคนอื่นนั้นลำบากนัก เราควรคิดว่าวันนี้ทำได้ดีพอรึยังมากกว่าจะมองว่าคนอื่นทำดีแค่ไหน ความคิดมีทั้งด้านบวกและลบ คิดในทางสร้างสรรค์ให้มากกว่าบั่นทอนความรู้สึก จะเป็นการฝึกสมรรถภาพสมองของเราได้ดี และนั่นจะส่งผลต่อคุณค่าในการใช้ชีวิตของเราทำให้เราคุ้มค่ากับวันเวลาของเราด้วย เมื่อเราใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าไม่ว่าจะปีเก่าไปปีใหม่มา เราก็ยังมีเวลาและโอกาสในการกระทำตามความคิดที่สร้างสรรค์ของเราปีละ 365 วันเท่าเดิมทุกปี การจะพบเจอสิ่งดีหรือไม่ดีนั้นสำคัญอยู่ที่ว่าเรามองสิ่งนั้นอย่างไรต่างหาก


กตัญญุตา

1 ความคิดเห็น โดย noina เมื่อ 25 December 2010 เวลา 12:54 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2060

 


    วันก่อนเข้าไปอ่านเรื่อง “อายเพราะมีแม่แก่” ของครูปู ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันที่เคยได้ยิน มีอาจารย์พยาบาลท่านหนึ่งซึ่งประสบปัญหามีบุตรยาก เลยตัดสินใจไปทำ GIFT และก็ได้ตั้งครรภ์สมใจ ท่านมักจะเล่าเรื่องส่วนตัวให้น้องๆ ที่แต่งงานแล้วมีปัญหามีบุตรยากฟังเสมอ เพื่อจะได้มีความหวังและกำลังใจ บังเอิญได้อยู่ในวงสนทนาด้วยจึงเก็บประเด็นหนึ่งที่พี่เล่าให้ฟังซึ่งเป็นเรื่องฮา ๆ ว่า ” กว่าจะตั้งครรภ์ได้ก็ยากลำบากพอแล้วแต่การดูแลลูก ๆ ยิ่งยากลำบากเข้าไปใหญ่” ยิ่งตอนลูก ๆ เข้าโรงเรียน เขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราต้องทำตัวให้ดูดีตลอดเวลา เพราะเพื่อน ๆ ลูกที่โรงเรียนจะแข่งขันกันว่าใครมีแม่สวยและสาวกว่ากัน เป็นการแข่งขันตามประสาเด็กอนุบาล วันแรกของการไปโรงเรียนของเจ้าตัวเล็ก หลังเลิกเรียนเจ้าตัวเล็กวิ่งแจ้นกลับบ้านมาหาแม่พร้อมยิ้มแฉ่งอย่างดีใจ

แม่ : “ว่าไงลูก ลูกดีใจที่แม่ของลูกยังสาวและสวยที่สุดใช่ไหมจ๊ะ”

ลูก (ตอบกลับมาด้วยสีหน้าและแววตาปลื้มปีติ) : “เปล่าค่ะ หนูดีที่ใจที่สุดเลยค่ะ ที่คุณแม่ไม่ได้แก่ที่สุดในห้อง”

แม่ : “อ้าว เหรอ แล้วแม่ได้ที่เท่าไหร่ในห้องจ๊ะ”

ลูก : “คุณแม่ได้ตำแหน่งรองอันดับหนึ่งค่ะ แม่ของเพื่อนที่มีอายุมากที่สุดเขาอายุมากกว่าคุณแม่ตั้ง 3 วัน ค่ะ”

แม่ : ?????????????

    เรื่องการแข่งขันว่ามีแม่สาวและสวยเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ อนุบาลเขาคิดกัน แต่หากโตเป็นผู้ใหญ่แล้วถ้ามองวิกฤตเป็นโอกาสจะดีมาก “การที่มีพ่อแม่อายุมาก นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ดูแลท่านในช่วงบั้นปลายของชีวิต และหากเป็นช่วงที่เรายังไม่มีภาระในการดูแลใครก็ยิ่งทำให้เราได้มีเวลาตอบแทนพระคุณของท่านได้มากยิ่งขึ้น ลองย้อนกลับไปมองดูสักนิด ว่าท่านพยายามแค่ไหนกว่าจะให้ชีวิตแก่เรา ท่านลำบากแค่ไหนกว่าจะเลี้ยงเราได้เติบโตจนถึงวันนี้ได้ “ความกตัญญูกตเวที” เป็นสัญลักษณ์ของคนดี เชื่อเถอะว่าคนที่ดูแลพ่อแม่ของตนเองเป็นอย่างดี อนาคตของคน ๆ นั้นก็ย่อมจะประสบพบเจอแต่สิ่ง ๆ อย่างแน่นอน”


วันดีดีที่ไม่ธรรมดา

4 ความคิดเห็น โดย noina เมื่อ 20 December 2010 เวลา 11:49 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2816


    วันนี้ได้ขึ้นนิเทศการปฏิบัติงานวันแรกของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ซึ่งเป็นการขึ้นฝึกปฏิบัติงานครั้งแรกในชีวิตของนักศึกษา จึงมีเหตุการณ์ประทับใจเกิดขึ้น และอยากเล่าเป็นบทกลอนให้ทุกท่านได้รับรู้ เพราะว่าวันนี้อารมณ์ดีและมีความสุขมากค่ะ

 

       นิเทศงานนักศึกษาในคราแรก            ดูแปลกแปลกแตกต่างไปใจสับสน

       นักศึกษาดูซึมเศร้าเหงาชอบกล         แต่ละคนดูประหม่าทั้งกล้ากลัว

       จึงทดลองใช้วิชา”ครูบา”ช่วย            เริ่มต้นด้วย”เจ้าคือใคร”บอกให้ทั่ว

       ”เจ้ามาทำอะไร” “เหตุใดกลัว”           แนะนำตัวสร้างสัมพันธ์ให้มั่นใจ

       ”เจ้าคาดหวังสิ่งใด” “อย่างไรบ้าง”     ยกตัวอย่างชี้แจงแถลงไข

       ”สิ่งที่กลัวใหญ่ยิ่งคือสิ่งใด”               ต้องการครูช่วยแก้ไขให้บอกมา

       ”ในชีวิตภาคภูมิใจสิ่งใดเล่า”              จงยกเอาสิ่งเหล่านั้นที่สรรหา

       มาบอกเล่าความสำคัญจำนรรจา        คือคุณค่าช่วยสร้างสรรค์ความมั่นใจ

       เมื่อได้พูดเฉลยเอ่ยคำขาน                เปลี่ยนสีหน้าชื่นบานดูสดใส

       กล้าแสดงความคิดเห็นบอกเป็นนัย     วอนครูให้ช่วยเมตตาเอื้ออารี

       ”โปรดอย่าทิ้งศิษย์ทั้งหลายให้หดหู่”   ”ขอคุณครูอยู่ด้วยช่วยแก้ไข”

       กิจกรรมลำบากสักเพียงใด                “ศิษย์ภูมิใจวิชาชีพพยาบาล”

       ”จะไม่ท้อขอครูเป็นเช่นความหวัง”      ”เสริมพลังให้หัวใจได้กล้าหาญ”

       ”จากวันนี้ตลอดไปใจชื่นบาน”            ”จะตั้งใจทำงานเพื่อฝันตน”

       วันนี้จึงเป็นวันดีอีกวันหนึ่ง                 เพราะซาบซึ้ง”วิชามาร”นั้นได้ผล

       นึกขอบคุณ”หมอจอมป่วน”พี่ทุกคน     ที่ฝึกฝนสอนสิ่งใหม่ได้เข้าที

       เกิดแรงใจให้ไปต่อในวันหน้า             สร้างศรัทธาให้ดวงดาวพราวสดสี

       เฮฮาศาสตร์สืบสานมานานปี              ขอร่วมสร้างสิ่งดีดีให้สังคม

    


 


เปลี่ยนวันธรรมดาให้เป็นวันพิเศษ

4 ความคิดเห็น โดย noina เมื่อ 19 December 2010 เวลา 4:43 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2043


    วันนี้เป็นวันอาทิตย์ และเป็นวันหยุดพักผ่อนของใครต่อใครหลายคน แต่บางคนก็ยังเป็นวันทำงานเช่นเคย จำได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามคนก่อนมีนโยบายรณรงค์ให้วันอาทิตย์เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งท่านก็คงรับนโยบายมาจากส่วนกลางนั่นเอง เพราะเห็นมีรายการโฆษณาทางโทรทัศน์รายการหนึ่งที่พยายามจะสื่อให้คนไทยใช้เวลาอย่างน้อย 1 วัน ในสัปดาห์ เพื่อให้เป็นวันแห่งครอบครัว โดยวันนั้นควรเป็นวันที่ทุกคนอยู่กันพร้อมหน้า ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในสถาบันครอบครัว เป็นโอกาสอันดีที่คนในครอบครัวจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ไปทำบุญร่วมกัน ทำอาหารและรับประทานอาหารร่วมกันทุกมื้อ ปลูกต้นไม้หรือทำสวนร่วมกัน ช่วยกันทำความสะอาดบ้าน ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนในครอบครัวปฏิบัติเป็นประจำในอดีต แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า บางอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างครอบครัวในสังคมไทยเป็นครอบครัวเดี่ยวโดยส่วนมาก น่าแปลกตรงที่ ทั้งๆที่จำนวนสมาชิกในครอบครัวน้อยลงแต่กลายเป็นว่าโอกาสที่จะอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาก็ยิ่งน้อยลงไป สมัยก่อนโครงสร้างสังคมไทยเป็นครอบครัวขยาย สมาชิกครอบครัวมีจำนวนมากแต่กลับมีเวลาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาได้มากกว่า

    ปัจจุบันแม้แต่วันหยุดราชการโอกาสที่คนในครอบครัวจะได้อยู่กันพร้อมหน้าก็แทบจะหาได้ยากยิ่ง “เป็นเพราะสังคมเปลี่ยนไปหรือจิตใจคนเปลี่ยนแปลง” การทำให้วันธรรมดากลายเป็นวันพิเศษมันมีความสำคัญแค่ตรงที่ต้องมานั่งทำอะไรด้วยกันเพียงแค่วัน 1 วันในสัปดาห์ใช่หรือเปล่า??? ความพิเศษมันประเมินได้จากอะไร ??? การสร้างความสุขภายในครอบครัวคงไม่จำเป็นต้องรอวันหยุดพร้อมหน้าพร้อมตากันกระมัง การสร้างความพิเศษน่าจะอยู่ที่การเอาใจใส่ และให้ความสำคัญกับความรู้สึกของกันและกันมากกว่า เรามีเวลาคุยกับคนในครอบครัวเราหรือไม่ในแต่ละวัน แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับเรามีเวลารับฟังความทุกข์ในใจของกันและกันบ้างไหม และเรากอดคนในครอบครัวของเราครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ยังจำมันได้หรือเปล่า??? ความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร??? รู้สึกดีหรือไม่ที่ได้กอดคนที่เรารักและรักเรา??? เสียเวลามากไหมที่จะทำให้เราและคนที่เรารักรู้สึกดี เห็นไหมว่า…การสร้างความพิเศษให้เกิดขึ้นในวันธรรมดาไม่เห็นจะยากเลย คนที่เรากอดก็ไม่ใช่คนอื่น ไม่เห็นต้องขออนุญาตเขาก่อนสวมกอด คนกอดก็มีเจตนา คนโดนกอดก็สมยอม ไม่ผิดข้อหาใดๆ ทั้งสิ้น งานนี้ไม่ได้ขึ้นโรงขึ้นศาลอย่างแน่นอน……

(นิยาม กอด= เป็นอาการแสดงที่เกิดจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติเมื่อชาวเฮฮาศาสตร์เมื่อได้พบประสบพักตร์กัน อิอิอิ)

 

    

    


สิ่งเล็กน้อยที่ยิ่งใหญ่

6 ความคิดเห็น โดย noina เมื่อ 18 December 2010 เวลา 10:49 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2846


หลังจากได้ที่ได้ร่วมเรียนรู้บทเรียนนอกตำรา และบทเรียนการประชุมวิชาการระดับชาติของ สกอ. ก็ต้องกลับเข้าสู่ยุทธจักรของเส้นทางสีขาวอีกครั้ง หลังจากที่ได้หายหน้าหายตาจากวงการ ปล่อยให้นักศึกษาได้ศึกษาตามอัธยาศัยบนหอผู้ป่วยศัลยกรรม โดยมี อาจารย์พยาบาลพี่เลี้ยงคอยดูแลแทนในช่วงที่ไปประชุม 13-15 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา สิ่งแรกที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเจอหน้าลูกศิษย์คือ แววตาแห่งความปลื้มปีติและดีใจเมื่อเห็นอาจารย์กลับมานิเทศอีกครั้ง ความผิดปกติที่เปลี่ยนไปของนักศึกษาคือ ความกล้าและความกระตือรือร้น ต่างจากวันแรกที่ขึ้นฝึกปฏิบัติงานอย่างสิ้นเชิง (วันนี้เป็นการฝึกปฏิบัติงานวันที่ 4 ในสัปดาห์ที่ 2) ก่อนปฏิบัติงานทุกวันจะเริ่มต้นด้วยการ Pre conference ได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในรอบสามวันก่อน ว่านักศึกษาทุกคนอยู่ดีสบาย หรือไม่ อย่างไร คำตอบที่ชัดเจนของนักศึกษาที่ทำให้ยิ้มจนเหงือกแทบจะแห้งก็คือ “สนุกสนานมากค่ะอาจารย์ พี่ๆ ให้โอกาสพวกหนูทำทุกอย่าง พี่ๆ ใจดีทุกคนเลยค่ะ ถ้าทำอะไรไม่ได้พี่จะสอนและไม่ตำหนิเราด้วยค่ะ มีความสุขมากค่ะ” บางคนบอกว่า “รู้สึกดีอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมากก่อนเลยค่ะ อาจารย์ ” (น่าจะประชุมต่ออีกสัก 2 วัน นะเนี่ย ถ้าครบ 5 วันนักศึกษาบางคนจะได้หมดความกังวล อิอิอิ )

การเรียนการสอนในคลินิกเริ่มต้นขึ้นภายหลังจากการ Pre conference การนิเทศการฝึกปฏิบัติกิจกรรมทางการพยาบาลของนักศึกษาครั้งนี้ได้เอาความรู้ที่ได้รับประสิทธิ์ประสาทจากท่านครูบาและอาจารย์หมอป่วน มาใช้โดย การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พูดและแสดงความคิดเห็นและอธิบายความเข้าใจของตนเองมากที่สุด รับฟังเขาด้วยความเข้าใจ เมื่อเขาพูดจบก็สะท้อนความคิดให้เขาได้คิดเองว่าที่สิ่งเขาพูดถูกต้องหรือไม่อย่างไร การอธิบายถึงเหตุผลตามหลักการเป็นการย้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิด Concept ที่สำคัญที่เขาควรจะรู้ เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ตนเองหลงทางมาเป็นเวลานาน กี่ปีแล้วหนอ(บอกไม่ได้เดี๋ยวรู้ อายุ อิอิอิ) ที่เราสอนนักศึกษาโดยการป้อนความรู้ให้เขาต้องรู้ในสิ่งที่เราอยากให้เขารู้ โดยที่เปิดโอกาสให้คิดเอง ทำเอง ค่อนข้างน้อย จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ผลผลิตของเรา (พยาบาล) มีความรู้เฉพาะในขอบเขตที่เราให้เขาเรียนรู้เพียงเท่านั้น จึงมีความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบค่อนข้างน้อย แต่ก็ยังรู้สึกดีที่ว่าเวลาที่เหลืออยู่เรายังมีส่วนร่วมสร้างผลผลิต “พยาบาลพันธุ์ใหม่” (พยาบาลมีองค์ความรู้ทางการพยาบาล ใฝ่รู้ ใฝ่ดี คิดเป็น ทำเป็น แก้ไขปัญหาเป็น รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์)ได้อีกหลายรุ่น (คุณสมบัติพยาบาลพันธุ์ใหม่ ประยุกต์มาจาก คุณสมบัติของบัณฑิตยุคใหม่ ที่กำหนดไว้ในเป้าหมายของการพัฒนาการศึกษาให้มีมาตรฐาน อิอิอิ)

สิ่งที่อันตรายอย่างหนึ่งจากการสอนแบบป้อนความรู้โดยที่ไม่เปิดโอกาสได้เรียนรู้ด้วยตนเองก็คือ การที่เราบอกอะไร สอนอะไร เขาอาจจะท่องจำสิ่งนั้น ๆ โดยที่อาจจะไม่เข้าใจแต่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม หากท่องจำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็จะปฏิบัติไม่ถูกต้องด้วย สิ่งที่ตามมาก็คือ คุณภาพการพยาบาลที่อาจจะลดลง และอาจทำให้การปฏิบัติการพยาบาลไม่แตกต่างจากการดูแลของผู้ดูแลโดยทั่วไป

ในการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษา ต้องมีการทำ Nursing care conference ซึ่งเป็นการประชุมปรึกษาทางการพยาบาลเพื่อวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาน่าสนใจโดยใช้กระบวนการพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย การประเมินสภาพ การวินิจฉัยทางการพยาบาล การวางแผนการพยาบาล การปฏิบัติการพยาบาล และการประเมินผลทางการพยาบาล ซึ่งกระบวนการดังกล่าวคล้ายๆ กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นพยาบาลที่ดีก็ต้องมีคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน นั่นคือ “ความช่างสังเกต ขี้สงสัย และมีเหตุผล” จึงจะทำให้สามารถค้นหาปัญหาของผู้ป่วยได้ครอบคลุมและสามารถให้การพยาบาลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม การทำ Nursing care conference ของนักศึกษาครั้งนี้ ได้สะท้อนให้นักศึกษาให้มองเห็นถึงองค์ความรู้และความเข้าใจของตนเองในกิจกรรมการพยาบาลที่ปฏิบัติแก่ผู้ป่วย กิจกรรมการพยาบาลใดก็ตามหากเราอธิบายไม่ได้นั่นแสดงว่าเราขาดซึ่งความเข้าใจ แล้วเราจะยังเสี่ยงที่จะปฏิบัติเช่นนั้นต่อไปอีกหรือไม่???? ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นเช่นไร???? เราจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อแก้ไขภาวะเสี่ยงจากองค์ความรู้ที่ไม่กระจ่างชัด???? การเรียนรู้จากองค์ความรู้หรือแนวคิดคนอื่นไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของนักศึกษาได้ครบถ้วนทั้งหมด เนื่องด้วยผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การพยาบาลแบบองค์รวม หรือแม้แต่การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่นักศึกษาทุกคนต้องทำความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อที่จะประยุกต์ความรู้มาวางแผนให้การพยาบาลที่สอดรับกับปัญหาของผู้ป่วยที่มีในขณะนั้นจริงๆ

รอยย่นบนใบหน้าจากอาการคิ้วขมวดของนักศึกษาเริ่มคลายลงไป หลังจากครูเปิดโอกาสให้พูดคุยแสดงความคิดเห็น การให้แสดงความคิดเห็นไม่ใช่เพื่อการตัดสินถูกหรือผิด ความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่อเขาได้เล่าสิ่งที่คิดเป็นการได้สะท้อนถึงความเข้าใจของตัวเขาเอง หากเข้าใจไม่ตรงกับหลักการก็สามารถอธิบายในสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญให้เข้าใจกระจ่างชัดขึ้นได้ แต่คนที่ไม่พูดต่างหากที่น่ากลัว เพราะเราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ หากเขาเชื่อมั่นว่าสิ่งที่คิดถูกต้องแล้ว การกระทำที่เกิดจากความคิดนั้นย่อมส่งผลกระทบได้มากกว่าความคิดอย่างแน่นอน การทำ Nursing care conference ครั้งนี้ อย่างน้อย ๆ ก็ได้เรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาว่า ยังมีหลายสิ่งที่นักศึกษาไม่เข้าใจและเรียนรู้แบบท่องจำหรือเลียนแบบจากตัวอย่าง แต่ก็ต้องขอบคุณอาจารย์พยาบาลพี่เลี้ยงตึกศัลยกรรม ที่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักศึกษา ทำให้เกิดการเรียนรู้จากตัวอย่างที่ดีๆ เพราะ “การเรียนรู้จากตัวอย่างที่ดีมีผลต่ออนาคตของชาติอย่างแน่นอน”

การฝึกปฏิบัติงานตลอดสองสัปดาห์ ณ หอผู้ป่วยศัลยกรรมได้สำเร็จลุล่วงไปด้วย D (แต่นักศึกษาหลายคนมีโอกาสได้ A อิอิอิ) ก่อนเสร็จสิ้นการฝึกปฏิบัติงาน ได้แจ้งนักศึกษาว่าจะมีการ Post test นักศึกษาต่างกระตือรือร้นเป็นการใหญ่ ในการอ่านหนังสือเพื่อสอบ แต่เสียดายที่ข้อสอบยากกว่านั้นมากนัก (อิอิอิ) ข้อสอบเป็นข้อสอบอัตนัย มีอยู่ 4 ข้อ ให้เขียนอธิบายตอบตามความเข้าใจของตนเอง ไม่จำกัดจำนวนหน้ากระดาษ (ใช้กระดาษหน้าเดียว เพราะเสียดายต้นไม้แต่ละต้นที่ต้องโดนตัด) คำถามคือให้อธิบาย

  1. ความประทับใจจากการฝึกปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยศัลยกรรมครั้งนี้
  2. ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นในการฝึกปฏิบัติงานครั้งนี้
  3. สิ่งที่อยากปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น
  4. ความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “การพยาบาลแบบองค์รวม การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์”

เมื่อแจกกระดาษให้นักศึกษาทุกคนตั้งหน้าตั้งตาเขียนอย่างขะมักเขม้น บางคนแอบยิ้มไปเขียนไป บางคนหัวเราะออกมาขณะเขียนคำตอบลงในกระดาษ สิ่งที่ประทับใจในการสอบครั้งนี้คือ ทุกคนไม่สนใจที่จะเหลียวมองคนรอบข้าง ไม่สนใจที่จะลอกคำตอบของใคร ทั้งๆ ที่นั่งติดกัน บางคนตอบสั้น ๆ ได้ใจความ บางคนอธิบายยืดยาวจนต้องขอกระดาษเพิ่ม เวลาผ่านไปครบกำหนด นักศึกษาทุกคนส่งกระดาษคำตอบ ครูสะท้อนความคิดว่า ถ้าคำตอบทุกคนเขียนมาจากใจ จากความรู้สึกจริงๆ ของตนเอง นั่นคือคุณภาพการพยาบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คำตอบของคำถามที่ 1 คือสิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกดีต่อการฝึกปฏิบัติงาน เมื่อไหร่ก็ตามที่เรานึกถึงคำตอบข้อนี้ นั่นแสดงว่าเราเกิดการเรียนรู้เพราะเราสามารถแยกแยะ วิเคราะห์สิ่งที่ดีๆ ได้ แต่ละหอผู้ป่วยยังมีอะไรดีๆ ให้เราได้เรียนรู้อีกมากมาย ความประทับใจนี้เองจะนำไปสู่ความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่ดีได้

คำตอบของคำถามที่ 2 คือสิ่งที่จะทำให้เราเกิดความมั่นใจในการฝึกปฏิบัติงาน อะไรก็ตามที่เราทำสำเร็จ เราย่อมเกิดความภาคภูมิใจและมีแรงกระตุ้นให้เราทำในสิ่งที่ดี เมื่อใดก็ตามที่มีความภาคภูมิใจเกิดขึ้น ความวิตกกังวลหรือความกลัวจะค่อยๆ ลดลง ความมั่นใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เราจะมีกำลังใจในการทำสิ่งดีๆ ต่อไปอีกมากมายในอนาคต

คำตอบของคำถามที่ 3 คือประเด็นสำคัญที่จะพัฒนาตัวเราเองให้ดียิ่งขึ้น คนที่มองเห็น ยอมรับข้อบกพร่องของตนเองและพยายามจะแก้ไขให้ดีขึ้นจะเป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคตอย่างแน่นอน และสิ่งนี้เองจะทำให้เราเป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่นและสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

    คำตอบของคำถามที่ 4 คือหัวใจของการพยาบาล คำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่า ความหมายของคำเหล่านี้จะตรงกับพจนานุกรมเล่มใด หรือแนวคิดที่เขียนไว้ในหนังสือ แต่ถ้าเราเขียนตอบมาด้วยความเข้าใจของเราเอง นั่นคือสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราคาดหวังว่า เราจะให้การพยาบาลต่อผู้ป่วย คำตอบที่ตอบมายังไม่ถูกต้องที่สุดหากเราไม่นำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยอย่างแท้จริง เมื่อใดก็ตามที่นักศึกษาให้การพยาบาลแก่ผู้ป่วย ครูอยากให้คิดถึงคำตอบข้อในข้อนี้เป็นสำคัญ เราทำได้อย่างที่เราคิดหรือไม่??? อย่างไร???

    ความประทับใจในการนิเทศครั้งนี้ คือ นักศึกษาได้ประเมินผลเป็นคำพูดว่า “พวกหนูมีความสุขในการฝึกปฏิบัติงานครั้งนี้ค่ะ” คำว่า “ความสุข” แค่คำเดียวครูก็ภูมิใจแล้วว่า นักศึกษาของครูเกิดการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจและไม่ยากเลยที่จะเป็นพยาบาลพันธุ์ใหม่ที่มีหัวใจเปี่ยมล้นด้วยความเอื้ออาทร (JJJ)

 


 


อุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่

2 ความคิดเห็น โดย noina เมื่อ 16 December 2010 เวลา 11:46 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2344


“อุ ด ม ศึ ก ษ า ร่ ว ม พั ฒ น า ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย น่ า อ ยู่”

13 – 15 ธั น ว า ค ม 2553

สืบเนื่องจากการมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2553 โดยมีหัวข้อการประชุมครั้งนี้ว่า “อุดมศึกษาร่วมพัฒนาชาติไทย” เห็นหัวข้อแล้วก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพการศึกษาของหน่วยงานได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมอย่างเป็นทางการ งานนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณชินวรณ์ บุญยเกียรติ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ปฏิรูปอุดมศึกษาปฏิรูปประเทศไทย” สรุปสาระสำคัญได้คือ การจะพัฒนาประเทศได้นั้น จะต้องพัฒนาการศึกษาให้มีมาตรฐานโดยประกอบด้วย

กรอบแนวคิดที่สำคัญ ได้แก่

  • การยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา
  • สร้างโอกาสและความเสมอภาคของผู้เรียน
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงานให้มีบทบาทและส่งเสริมสนับด้านการศึกษา

เป้าหมายที่สำคัญ ประกอบด้วย

  • การสร้างพลเมืองยุคใหม่ บัณฑิตยุคใหม่ ให้ใฝ่รู้ ใฝ่ดี คิดเป็น ทำเป็น แก้ไขปัญหาเป็น รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
  • พัฒนาครูยุคใหม่ ครูพันธุ์ใหม่ ที่เก่ง มีความสามารถ มีจิตวิญญาณความเป็นครู สร้างครูของครูที่มีคุณภาพ
  • พัฒนาสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ใหม่ โดยพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของโรงเรียนในชุมชนให้สอดรับบริบทของชุมชน โรงเรียนระดับ

มัธยมศึกษาในท้องถิ่นสามารถดึงนักเรียนให้ศึกษาในโรงเรียนของท้องถิ่นตนเอง สถาบันอาชีวศึกษา ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานชั้นกลาง ต้องต่อยอดคนเก่งไปเรียนในระดับสูงขึ้นไป การศึกษาระดับอุดมศึกษาสามารถยกระดับเป็น World class university และ Research university

  • พัฒนาระบบบริหารจัดการยุคใหม่ ปฏิรูประบบการเงินที่สะท้อนคุณภาพ

ผู้เรียน มุ่งเน้นการส่งเสริมความเป็นอิสระแก่สถาบันการศึกษามากขึ้น ทั้งนี้มหาวิทยาลัยทุกแห่งยึดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สำคัญ 5 ข้อ ได้แก่

  1. พัฒนาวิชาการ รับใช้สังคม ให้ความจริง ความรู้กับสังคม
  2. หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด กล่าวคือ สถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดร่วมกันดำเนินการงานในทุกระดับ
  3. จัดตั้งศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัด
  4. การสร้างความเป็นพลเมืองของนิสิตนักศึกษา
  5. ยุทธศาสตร์การสร้างบรรยากาศในการปรับตัวของสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมที่จำเป็น

อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญอยู่ที่ผู้สอน หากผู้สอนสามารถเป็นตัวอย่างที่ดี มีความสามารถ และมีจิตวิญญาณความเป็นครู บัณฑิตพันธุ์ใหม่ย่อมจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้น่าอยู่ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีการประกาศเกียรติคุณสถาบันที่มีระบบประกันคุณภาพที่ได้มาตรฐาน โดยแบ่งเป็น

รางวัลสถาบันที่มีระบบประกันคุณภาพดีเลิศ ได้แก่

  1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

รางวัลสถาบันที่มีระบบประกันคุณภาพดีเด่น ได้แก่

  1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
  2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  3. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  4. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีราชบุรี

รางวัลแนวปฏิบัติดีเด่น

  1. วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

ยังแอบดีใจอยู่ลึก ๆ ว่าวิทยาลัยพยาบาลก็ยังมีผลงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับแนวหน้าระดับประเทศเหมือนกัน…..อิอิอิ


 



Main: 0.42506194114685 sec
Sidebar: 0.051533937454224 sec