การทำความดีไม่ควรรอเวลา
อ่าน: 2924
ในระหว่างวันที่ 12-16 มกราคม 2554 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานมูลนิธิพุทธฉือจี้ (Tzu Chi Foundation) ประเทศไต้หวัน เคยได้ยินแต่ชื่อเสียงเรื่องการสร้างพลังศรัทธา และเรื่องจิตอาสา ครานี้ได้ไปดูและเห็นกับตา ตนเองทำให้เกิดความรู้สึกดีในหลายๆ เรื่องด้วยกัน ในที่นี้ขอเล่าถึงเรื่องราวประทับใจในประเด็นการสร้างเสริมคุณธรรมและจริยธรรมที่สำคัญในการดำเนินชีวิตก็แล้วกัน
มูลนิธิพุทธฉือจี้ให้ความสำคัญกับการทำความดีโดยได้นำเอาคุณธรรมที่เป็นนามธรรมและแปลงไปสู่การปฏิบัติจริงที่เห็นผลได้ชัดเจน มูลนิธิพุทธฉือจี้มีอายุกว่า 40 ปี เป็นสำนักพุทธนิกายมหายานที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดของไต้หวัน (มีมากกว่า 10 สำนักใหญ่ด้วยกัน) โดยมีธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนซึ่งเป็นภิกษุณี เป็นผู้นำ ปัจจุบันอายุ 73 ปี และท่านเคยได้รับรางวัลแม็กไซไซจากงานที่ทำนี้เมื่อประมาณ 14 ปีที่แล้ว
มูลนิธิพุทธฉือจี้ทำงาน 8 ประการในปัจจุบันด้วยกัน คือ (1) งานการกุศล (2) งานการแพทย์ (มีโรงพยาบาล 6 แห่ง) (3) งานการศึกษา (มีโรงเรียนอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ที่ผลิตแพทย์และบัณฑิตทางสังคมศาสตร์) (4) งานด้านมนุษยธรรม (5) งานบรรเทาทุกข์สากล (6) ธนาคารไขกระดูก (7) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (8) อาสาสมัครชุมชน
คุณธรรมสำคัญที่ทางมูลนิธินำมาปฏิบัติให้เห็นผลชัดเจนคือ พรหมวิหารสี่ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
เมตตา คือความต้องการเห็นผู้อื่นเป็นสุข โดยไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา ดังจะเห็นได้จากการที่มูลนิธิพุทธฉือจี้ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากทั่วทุกประเทศ โดยคำสอนที่สำคัญมุ่งเน้นให้ทุกคนมีความรักต่อกัน โดยในโลกนี้ไม่มีใครที่เราจะไม่รัก ไม่ศรัทธา หรือไม่เชื่อใจ ความรักสามารถนำพาทุกสิ่งไปในทางที่ดีได้
กรุณา คือสอนให้รู้จักการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน มูลนิธิพุทธฉือจี้ มีเป้าหมายที่สำคัญในการ “สอนคนรวยและช่วยเหลือคนจน” คนที่มีพร้อมควรเผื่อแผ่คนที่ยากไร้ การช่วยปลดเปลื้องความทุกข์จากการเจ็บป่วยถือเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนไปด้วย โดยการให้ในสิ่งเล็กๆน้อยๆ ของบุคคลหนึ่งอาจจะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่สำหรับอีกคนหนึ่งได้
มุทิตา คือ ความยินดีในธรรมะและความสงบสุขที่ได้ปลูกฝังแก่สังคม เมื่อสามารถช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ได้ ก็จะเกิดมุทิตาซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสุขใจจากการที่เราได้ทำความดี ได้ช่วยเหลือผู้อื่น มุทิตาจึงเปรียบเสมือนยาชูกำลังในการทำความดี
อุเบกขา คือการวางเฉย เมื่อให้การช่วยเหลือผู้อื่นแล้วไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ และในกรณีที่เราไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ก็ควรวางอุเบกขาทำวางใจให้เป็นกลาง และพิจารณาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมที่ได้เคยกระทำไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม กรรมนั้นย่อมส่งผลอย่างยุติธรรมตามที่เขาผู้นั้นได้เคยกระทำไว้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้จริยธรรมหรือสิ่งที่ดีงามที่ทุกคนพึงกระทำที่สำคัญมีสองประเด็นที่สำคัญที่คนเราไม่ควรรอเวลา นั่นคือ “ความกตัญญูกตเวทีและการทำความดี” ประเด็นความกตัญญูกตเวทีนี้เองทำให้นึกถึง เรื่องเล่าของครูปู เรื่อง “อายที่มีแม่แก่” ถ้าหากเราละเลยที่จะกตัญญูต่อผู้มีพระคุณของตัวเองเพียงเพราะอายเพื่อน แล้วเราจะหันมาดูแลท่านตอนไหนในเมื่ออายุของท่านก็มากขึ้นทุกวันๆ ความละอายควรมีไว้สำหรับการกระทำในสิ่งไม่ดี นั่นคือ “หิริ โอตตัปปะ” ส่วนความกตัญญูกตเวทีไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นเรื่องน่าชื่นชมต่างหาก และเป็นเครื่องหมายที่การันตีได้ถึงความเป็นคนดีของคนเราอีกด้วย
ส่วนในประเด็นการทำความดีไม่ควรรอเวลา ทำให้นึกถึงคำพูดของนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ถามขึ้นมาในระหว่างทำกิจกรรมกลุ่มที่สวนป่า ว่า “ ทำไมอาจารย์ทุกท่านอายุก็ยังไม่มาก แถมยังอยู่คนละที่กัน ทำไมถึงได้คิดมาช่วยกันทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมถึงได้ ” คำตอบมันชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้วว่า การทำความดีไม่ควรรอเวลา แม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆน้อยๆ แต่ถ้าเริ่มจากจุดเล็กๆ ในที่สุดก็จะนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคมได้
สรุปสาระสำคัญสั้นๆ ของหลักคำสอนของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่เห็นด้วยอย่างยิ่งคือ “ในสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี การกำจัดคนไม่ดีนอกจากจะทำได้ยากแล้ว ยังเสียเวลา สู้ส่งเสริมการทำความดีและสร้างคนดีให้มีในสังคมเพิ่มมากขึ้นน่าจะดีกว่า เพราะนั่นคือคนไม่ดีจะเริ่มลดน้อยลงไป สุดท้ายสังคมก็จะมีแต่คนดีและมีความสงบสุขได้”
การไปศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ อีกแล้วครับท่าน…อิอิอิ