สภาพปัจจุบันของการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลนครพิษณุโลก

โดย จอมป่วน เมื่อ 3 September 2008 เวลา 10:19 pm ในหมวดหมู่ การจัดการขยะมูลฝอย, เทศบาลนครพิษณุโลก #
อ่าน: 48388

 

ก่อนจะเล่าเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยด้านต่างๆให้ฟัง ก็ขอคุยให้ฟังก่อนว่าปัจจุบันการจัดการขยะมูลฝอยของเทศบาลนครพิษณุโลกมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว เผื่อจะทำให้เป็นที่สนใจมากขึ้น จะได้ติดตามดูว่าเดิมเป็นอย่างไร ทำอย่างไรถึงได้ผลออกมาเป็นอย่างนี้

อันแรกก็จะคุยให้ฟังก็คือที่หลุมฝังกลบขยะ หลุมฝังกลบขยะของเทศบาลนครพิษณุโลกปัจจุบัน ได้งบประมาณจากโครงการเมืองหลักสมัยก่อนโน้น อยู่ที่ตำบล บึงกอก อำเภอบางระกำ ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก ประมาณ 40 กิโลเมตร พอได้รับมอบหลุมฝังกลบขยะมา ก็ทำไม่เป็น เพราะไม่เคยทำ พอดีเป็นช่วงเริ่มโครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเมืองพิษณุโลกที่ได้รับการสนับสนุนจาก GTZ ก็เลยขอ ผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมันมาอบรมวิธีทำงานที่บ่อฝังกลบขยะ พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำให้ปรับปรุงบ่อขยะให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย

 

 

 

ต่อมาก็มีการศึกษากรรมวิธี การบำบัดเชิงกลชีวภาพ หรือชื่อย่อเรียกว่า MBT ( Mechanical Biological Waste Treatment ) โดยทดลองทำจริงโดยแบ่งขยะส่วนหนึ่งมาทำการทดลองเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม ซึ่งปัจจุบันก็ใช้วิธีนี้ในการกำจัดขยะมูลฝอยอยู่ กรรมวิธีนี้อันดับแรกก็คือการบำบัดเชิงกล ( Mechanical ) ต้องทำการแยกขยะที่ไม่เหมาะกับกระบวนการ เช่นเศษขยะชิ้นใหญ่ๆ แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆที่ไม่ใช้แล้วและมีขนาดใหญ่ ในบางกรณีต้องใช้เครื่องบด บดเป็นชิ้นเล็กๆก่อนจึงจะนำเข้าสู่กระบวนการได้ ขั้นต่อไปก็เป็นขั้นตอนชีวภาพ ( Biological ) ก็คือนำเอาขยะที่เหลือทั้งหมดมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วทำการหมัก ( ขั้นตอนต่างๆเหมือนการหมักปุ๋ยทุกประการ แต่วิธีการจะเป็นแบบไม่ต้องกลับกอง เพราะมีการนำเอาอากาศเข้าไปในกองโดย มีท่อนำอากาศเข้าไป เพราะอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้น อากาศเย็นก็จะหมุนเวียนเข้าไปแทนที่ ทางเทคนิคเรียกว่า Static Passive Aerated Method

 

  

 

 

ในการตั้งกองหมักก็จะตั้งกองบน Pallet ไม้ เพื่อให้อากาศผ่านเข้ากองขยะได้ มีการวางท่อเข้าไปในกองขยะ ท่อจะเป็นท่ออ่อนเจาะรูไว้ ( Perforate Corrugated Tube ) มีการคลุมกองหมักด้วยเศษกิ่งไม้ใบหญ้าแห้งหนาประมาณ 30 ซม. ทำหน้าที่กรองลดกลิ่น ( Biofilter ) ตั้งกองไว้ 9 เดือน ช่วงนี้จะต้องควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณออกซิเจนในกองหมัก อินทรียสารต่างๆก็จะย่อยสลายหมดและกองก็จะแห้งและยุบตัวลง เวลานำไปฝังกลบก็จะสามารถบดอัดให้แน่นกว่าเดิม ปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสียก็ลดลง สามารถยืดอายุการใช้งานของหลุมฝังกลบขยะออกไปได้ 2.5 – 3 เท่าของเดิม

 

 

 

 

 

 

ขณะนี้ทางเทศบาลได้มีการศึกษาทดลองร่วมกับ Ecosiam company ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง มีการนำเอากองที่อายุครบ 9 เดือนแล้ว มาร่อนเพื่อแยกเอาอินทรียสารชิ้นเล็กๆออก ส่วนนี้จริงๆแล้วก็คือปุ๋ยหมัก ( Compost ) ดีๆนี่เอง แต่เราถือว่ามีการปนเปื้อนเพราะการคัดแยกขยะของเรายังไม่ดีพอ ไม่ได้คัดแยกขยะอันตรายออกตั้งแต่ระดับครัวเรือน จึงมีการปนเปื้อนตั้งแต่ต้นทาง ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นปุ๋ยหรือนำเข้ามาใช้ในห่วงโซ่อาหาร ( Food Chain ) จึงได้นำกลับไปใช้ในกระบวนการ MBT ใหม่อีก

ส่วนที่เหลือซึ่งมีขนาดใหญ่จะเป็นเศษถุงพลาสติกและโฟมซึ่งจะแห้ง มีความชื้นต่ำและให้ค่าความร้อนสูง ได้นำไปทดลองใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตปูนซิเมนต์ เบื้องต้นทางด้านเทคนิคไม่มีปัญหา ขณะนี้ก็อยู่ในขั้นตอนศึกษารายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่างๆเพื่อเจรจากันในเชิงธุรกิจต่อไป

 

 

 

   

 

ซึ่งถ้าสามารถดำเนินการได้ เหมือนที่ทำกันในต่างประเทศก็จะสามารถพัฒนาไปสู่ Zero Landfill ต่อไป กล่าวคือแทบไม่ต้องใช้หลุมฝังกลบขยะเลย ขยะที่ผ่านกระบวนการ MBT แล้ว ก็จะส่งไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเลย ก็จะลดปัญหาการไม่มีที่ฝังกลบขยะ และเป็นการใช้ขยะมูลฝอยมาใช้เป็นพลังงานทดแทนต่อไปในอนาคต

 

 

 

จาก G2K  

เขียนวันที่  19  มกราคม 2550

 

Next : การมีส่วนร่วมของประชาชน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1524 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 4.5548350811005 sec
Sidebar: 0.013389825820923 sec