บาตรนี้มีเรื่องเล่า

อ่าน: 3834

                           เล่าเรื่องบาตรๆ บาตรนี้มีที่มา มีเรื่องเล่า ตอนก่อนที่ผมจะบวชก็ไปหาซื้ออัฏฐะ บริขาร ซึ่งบริขารหนึ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ในการประกอบพิธีการอุปสมบทก็คือบาตรพระ ตอนซื้อ บาตรนั้นคนขายถามว่า จะให้บาตรขนาดกี่นิ้ว มีตั้งแต่หกนิ้ว เจ็ดนิ้ว ไปจนถึงใหญ่สุดคือขนาดสิบสองนิ้ว ตอนนั้นไม่ได้นึกอะไร กะว่าเอาขนาดใหญ่หน่อยแล้วกัน เดี๋ยวได้ข้าวไม่พอฉัน  แต่พอบวชเป็นพระจริงๆ แล้วกลับคิดว่าเราตัดสินใจผิดแล้วที่เลือกบาตรขนาดแปดนิ้วมา เราน่าจะเลือกเล็กที่สุดมากกว่า เพราะ เดินบิณฑบาตร กว่าจะกลับถึงวัด ญาติโยมก็มีความศรัทธา เดินไปแค่ค่อนทางข้าวก็เต็มบาตรซะแล้ว คอนี้แทบห้อย เพราะหนักมาก ขยับสายบาตร แล้วขยับอีก จนปวดต้นคอ นึกถึงสมัยโบราณ พระเค้าบิณฑบาต ไม่ได้มีสายห้อยคอเหมือนอย่างเราสมัยนี้ ต้องถือบาตรเปล่าๆ ผ้าหุ้มบาตรก็ไม่มี ต้องทั้งประคองทั้งอุ้ม โดยเฉพาะพระบวชใหม่ ถ้าวันไหนฝนตก มือซ้ายก็ต้องคอยหนีบผ้าจีวรไม่ให้หลุด มือขวากางร่ม เวลาโยมจะใส่บาตร ต้องเปิดฝาบาตร อาการทุลักทุเลจริงๆ

 
 

           จำได้ว่าวันแรกที่บวช น้องชายมากระซิบบอกวิธีปฏิบัติตนเป็นพระว่าพระเค้าห้ามทำหลายอย่าง เช่น ห้ามยืนฉี่  ห้ามพรากของเขียว(ถากหญ้า ถอนหญ้า) และหลายๆ เรื่อง และที่สำคัญน้องชายบอกว่าเวลาไปบิณฑบาตรบ้านใครอย่าไปทำฝาบาตรตกหน้าบ้านเค้า เพราะเค้าจะถือว่าซวย พระมาทำบาตรตกหน้าบ้าน ส่วนพระที่วัดบอกว่า ถ้าทำบาตรตก ต้องมาสวดทำพินทุบาตร ใหม่ ส่วนมหาสมบูรณ์ (พระสุธรรมมุณี) บอกว่าพระองค์ไหนที่ทำฝาบาตรหล่นจะให้ไปสวดอิติปิโสถอยหลัง ตายละว๊า แค่สวดเดินหน้ายังสวดไม่จบเลย นี่เล่นจะให้สวดถอยหลัง

             การบิณฑบาตรนั้น พระพุทธองค์บัญญัติไว้ว่า เราจักรับบิณฑบาตจดเสมอขอบบาตร แต่ที่ผ่านมานี่ยิ่งออกพรรษาญาติโยมยิ่งตักบาตรมาก ขนาดข้าวเต็มบาตรแล้ว โยมก็ยังพยามตะแคงทัพพี สอดหามุมพื้นที่ว่างในบาตรเพื่อจะใส่ข้าวให้ได้ บางคนก็ใช้ทัพพีกด กดๆๆ เพื่อจะใส่ข้าวได้อีก จนพระอดรนทนไม่ไหวต้องหงายฝาบาตรขึ้นแล้วบอกโยมว่า ใส่ลงในฝาบาตรเถอะโยม สรุปแล้วโยมยิ้มได้ ใส่มาซะหมดขัน กลับมาถึงวัด ยังแซวกับพระรูปอื่นว่า สงสัยพรุ่งนี้ต้องไปหาเหล็กมาต่อขอบบาตรสูงอีกสักสองนิ้วจะได้รับข้าวเพียงเสมอขอบบาตร

            เล่าถึงเรื่องการใส่บาตรแล้วมีอยู่วันหนึ่งโยมที่ข้างวัดเค้าใส่บาตร แต่วันนั้นโยมเค้าไม่มีกับข้าวจึงใส่แต่ข้าวเปล่าๆ ตอนตักบาตร เราได้ยินเหมือนเสียงของแข็งตกใส่ก้นบาตร ตอนแรกนึกว่าเป็นข้าวดิบเป็นก้อนแข็ง แต่พอกลับถึงวัดถึงรู้ว่าเป็นก้อนเกลือ วันรุ่งขึ้นเก็บความสงสัยไปถามโยมยาย จึงได้เฉลยความรู้กลับมาว่าคนโบราณถ้าเค้าไม่มีกับข้าว เค้าจะใส่เกลือลงไปแทนกับข้าว ที่เค้าใส่มาเป็นเกลือเม็ด นี่ถ้าไม่มาบวชพระความรู้เหล่านี้คงไม่ได้เรียนรู้

  
 

           ก่อนจะออกบิณฑบาตร ทุกเช้า เราจะทำพิธีปลุกบาตร ด้วยคาถาที่หลวงตาผู้สูงวัยจดใส่กระดาษมาให้เราด้วยความเอ็นดูว่า ก่อนออกเดินบิณฑบาตร ให้ ว่า “อิมัง ปัตตตัง อธิษฐามิ” แล้วเอามือเคาะฝาบาตรสามที เปิดฝาบาตร แล้วเอามือคุเลในฝาบาตร  ตอนแรกนึกว่าหลวงตา เขียนผิด สอบถามจึงทราบว่า คุเลเป็นภาษาวัดโบสถ์แปลว่าเอามือควนหรือคน แล้วว่าคาถากำกับอีกว่า “อิมัง คุรุ ลหุกัง อธิษฐามิ” หลังจากนั้นปิดฝาบาตรแล้วว่าคาถากำกับว่า “อิมังโลหะปิดตังอธิษฐามิ” ก่อนออกเดิน ก็ว่าคาถากำกับอีกว่า “อิมังปัติฐวียัง อธิษฐามิ” สัพเพสัพตา แผ่เมตตาให้กับสัพสัตว์ที่เราอาจเดินเหยียบ

           เรื่องของบาตรๆ แม้กระทั่งตอนก่อนเราจะลาสิกขา บาตรก็ยังทำหน้าที่เป็นบาตรน้ำมนต์ โดยหลวงตาที่เราจะสึกด้วยท่านจะนำบาตรไปทำน้ำมนต์ ปะพรมให้กับเรา และอาบให้หน้าโบสถ์ โดยเฉพาะหน้าหนาวอย่างนี้ อาบน้ำมนต์ตอนตีห้านี่หนาวสั่นสะท้านเหมือนผีจะออกจากร่างเลยเชียว พอสึกเสร็จ พระท่านถามว่าจะเอาบาตรถวายให้ใคร เราตอบไปว่า เราจะเอาบาตรไปตั้งไว้คู่กับตาลบัตร วางไว้หน้าโต๊ะหมู่บูชาที่บ้าน เพื่อเวลาที่เราไหว้พระสวดมนต์จะได้ระลึกถึงกิจวัตรประจำวันของเราตลอดพรรษาที่ได้บวชเรียนมา และเราก็มีลูกชายถึงสองคน เผื่อเค้าโตขึ้นเค้าบวชก็จะได้ใช้บาตรของพ่อ หลวงตาเค้าก็เลยบอกว่า เอาไปเลยเอาไปทำอย่างที่ว่าไว้ เพราะพระที่สึกไปก็ทิ้งบาตรไว้เต็มศาลา เราเคยเข้าไปดูในห้องเก็บของเห็นตาลปัตรเกือบร้อยกว่าอันมั้งวางทิ้งไว้เกลื่อนไปหมด เราจึงตัดสินใจเก็บกลับมาบ้านดีกว่าทิ้งไว้วัดให้ฝุ่นจับ

            พอตอนเย็นกำลังขับรถกลับบ้าน ผู้บัญชาการที่บ้านโทรมาบอกว่า เธอเก็บบาตร เก็บตาลปัตรมาไว้ที่บ้าน เค้าบอกกันว่า ของเหล่านี้ถวายให้วัดแล้ว เค้าไม่เก็บกลับมากัน เราจึงถามไปว่า “เค้าที่ว่านี่คือใคร” แล้วเค้าให้เหตุผลว่าอย่างไรถึงไม่ให้เก็บกลับมา คุณนายจึงสำทับมาด้วยเสียงอันดุว่า “เธอนี่ดื้อจริง คนโบราณเค้าบอกไม่ให้เอากลับก็ยังจะดื้ออีก” ถ้าอยากก็ไปซื้อเอาใหม่ก็ได้ เราก็โต้กลับไปอีกว่า ซื้อมาใหม่มันก็ไม่ผูกพันมีคุณค่าทางจิตใจเหมือนกับของที่เราใช้มา แล้วรู้ไหมว่าพุทธองค์ท่านตรัสห้ามภิกษุมีบาตรเกินกว่าหนึ่งใบ หากมีจักต้องอาบัติ 

          ขับรถไปก็คิดพลางว่าเราจะทำตามโบราณว่าอย่างไม่รู้เหตุผลว่าทำไม แต่สร้างความสบายใจให้กับคนที่บ้านดี หรือเราจะทำตามที่พุทธองค์ตรัสห้ามไว้ดี  ว่าแล้วขับรถถึงบ้าน ยังไม่เข้าบ้านดีกว่า เลยไปวัดหน่อย หลังจากเข้าไปสวดมนต์ในโบสถ์แล้วก็ถามพระหนุ่ม พระผู้ใหญ่ ว่าเค้ามีความเชื่อเรื่องนี้กันอย่างไร ก็ได้ความว่า ของวัดนั้นเป็นของร้อน อะไรที่ถวายพระแล้วเค้าไม่เก็บกับบ้านกัน เราก็เลยถามย้อนกลับไปว่า อ้าว ! แล้วของที่เค้าทำบุญใส่บาตรกันมา พระท่านส่งกลับไปให้ญาติพี่น้องนำไปใช้ ไปกิน ไปขาย มันไม่ร้อนรึ ก็ของที่เค้าถวายพระกันทั้งนั้น

         สรุปแล้ววงแตก ยังไม่ได้คำตอบ คุณภรรยาที่บ้านขับรถมาตามที่วัดซะก่อนว่าหายไปไหน กลับมาก่อนแล้วทำไมไม่ยอมเข้าบ้าน ๕๕๕ วันหน้ามาเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวัดใหม่

คำสำคัญ:

บันทึกนี้โพสต์เมื่อ วันที่ วันพฤหัสบดี, 18 พฤศจิกายน 2010 เวลา 3:14 (เย็น) และจัดไว้ในหมวดหมู่ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ปรัชญา. ติดตามอ่านการแสดงความเห็นได้ที่ฟีดนี้ RSS 2.0. คุณสามารถข้ามไปยังท้ายสุดและฝากความคิดเห็นไว้ได้ การปิงไม่ได้เปิดอนุญาตไว้ในขณะนี้.


1 ความคิดเห็น ในบันทึก “บาตรนี้มีเรื่องเล่า”

#1:: น้ำฟ้าและปรายดาว 18 พฤศจิกายน 2010 เวลา 6:28 (เย็น)

ชอบจังค่ะ เรื่องน่ารักมากเลย น้องชายบวชก็ไม่ได้เอาบาตรกลับบ้านเหมือนกัน ถวายวัดข้างนอกๆไว้สำหรับบวชเณรหรือพระที่ไม่มีปัจจัยซื้อ (แต่เป็นเรื่องจริงนะคะที่บาตรเต็มวัดเลยล่ะ) ว่าแต่ทำไมต้องปลุกบาตรล่ะคะ

ร่วมแสดงความคิดเห็น

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word

Main: 0.20491409301758 sec
Sidebar: 0.010873794555664 sec