การทำปุ๋ยหมัก ( Composting ) ตอนที่ 9 วิธีดูแลกองหมัก

โดย จอมป่วน เมื่อ 1 July 2009 เวลา 9:49 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 65207

ปุ๋ยที่ใช้ได้แล้วจะมีลักษณะยุ่ยเป็นเกล็ดเล็กๆ สีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ ไม่ร้อน แห้งสนิท เหมาะที่จะนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพดินให้ร่วนซุย สารอาหารก็มีพอสมควร

           กองปุ๋ยหมักในถังหมักหรือคอกหมักต้องคอยดูแลให้สภาพแวดล้อมเหมาะต่อการที่ จุลินทรีย์จะย่อยสลายอินทรียสารให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก  คงไม่ลืมปัจจัยที่สนับสนุนการหมักนะครับ  คือต้องดูแลให้มีอากาศเข้าไปในกองหมัก  ให้มีความชื้นที่เหมาะสมและมีอุณหภูมิที่เหมาะสมด้วย
           การที่ จะทำให้มีอากาศเข้าไปในกองหมักได้  ต้องคอยดูอย่าให้มีการอุดตันของรูที่เราเจาะไว้  และขอบล่างของวงบ่อ  ต้องหมั่นดูแลให้อากาศเข้าสู่กองหมักได้สดวก 
           นอกจากนี้ยังต้องคอยกลับกองหมัก  เพื่อให้อากาศเข้าไปในกองหมัก  หลังจากหมักสักระยะหนึ่ง  กองหมักจะยุบตัวลงมา  อากาศก็จะเข้าไปในกองหมักได้ยากขึ้น  การกลับกองก็อาจใช้มือเสือหรือคราดก็ได้  ควรกลับกองหมักทุกอาทิตย์  ถ้ากลับได้บ่อยขึ้นก็จะดี

                   


           ขณะกลับกองหมักให้สังเกตดูความชื้นของกองหมักด้วย  ถ้าแห้งเกินไปก็อาจเติมวัสดุสีเขียวหรือพรมน้ำให้กองก็ได้   ถ้าแฉะเกินไปก็อาจเติมวัสดุสีน้ำตาลเพิ่มลงไป  หรืออาจเปิดฝาคอกหมักหรือถังหมักให้โดนแดด  ช่วยลดความชื้นของกองหมัก
           คอยสังเกตดูอุณหภูมิของกองหมักด้วย  ถ้าทำถูกวิธีกองหมักจะมีอุณหภูมิสูงถึง  90-140 องศาฟาเรนไฮต์   เวลากลับกองอาจสังเกตเห็นไอร้อนจากกองหมัก  หรืออาจเอามือแตะดูจะรู้สึกถึงความร้อนที่มีอยู่ในกองหมัก 
           โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน  ก็จะได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพที่พอจะนำไปใช้ได้  จริงๆแล้วถ้าให้ดีและมีคุณภาพดีที่สุด ( Mature )  ต้องใช้เวลาถึง 120 วัน  ( เหมือนทำเหล้าต้องหมักแล้วบ่มต่อให้ได้ที่จึงจะได้เหล้าที่มีรสกลมกล่อม  ไม่บาดคอ )   ปฏิกริยาต่างๆก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์  ไม่มีความเป็นกรดด่าง  ไม่ใช้ออกซิเจนแล้ว  ไม่มีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์  ไม่มีความร้อนเกิดขึ้นในกอง  แต่ระยะเวลา 90 วันก็จะได้ปุ๋ยหมักที่สามารถนำไปใช้ได้แล้ว

           ในการทำปุ๋ยถ้ามีปริมาณมากอาจใช้ระบบ 2 ถังหรือ 3 ถังก็ได้  คือเราใช้ถังที่1 ก่อน  ทำไปเรื่อยๆจนถังหมักเต็ม  ถ้าใช้เวลา 1 เดือนถังหมักเต็ม  เราก็ใช้ระบบ 3 ถัง   คือเริ่มใช้ถังที่ 2  พอเต็มอีกก็เริ่มใช้ถังที่ 3  พอถังที่ 3 เต็ม  ถังแรกก็จะครบ 90 วันพอดี  เราก็สามารถนำปุ๋ยไปใช้  แล้วเริ่มใช้ถังแรกใหม่   ถ้าถังแรกใช้เวลา 1 เดือนถึงจะเต็ม  เราก็ใช้ระบบ 2 ถังก็พอ 

                 

            ก่อน ที่จะนำปุ๋ยไปใช้ให้นำมาร่อนเสียก่อน  อุปกรณ์สามารถทำเองได้ง่ายๆ  ส่วนที่ผ่านตะแกรงร่อนคือส่วนที่จะนำไปใช้  ส่วนที่มีขนาดใหญ่จะไม่ผ่านตะแกรงร่อนก็นำกลับไปรองพื้นที่ก้นถังหมักอีก ครั้งเพื่อให้อากาศผ่านเข้ากองหมักได้สดวก          

                   

   
           ปุ๋ยที่ใช้ได้แล้วจะมีลักษณะยุ่ยเป็นเกล็ดเล็กๆ  สีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ  ไม่ร้อน  แห้งสนิท  เหมาะที่จะนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพดินให้ร่วนซุย  สารอาหารก็มีพอสมควร  แต่อาจต้องเพิ่มสารเคมีอีกเล็กน้อย ( Enrichment ) ให้เหมาะกับการปลูกพืชแต่ละชนิด


                             


 

« « Prev : การทำปุ๋ยหมัก ( Composting ) ตอนที่ 8 คู่มือขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก

Next : ปุ๋ยขี้วัวทำอะไร- ของอาจารย์หมอวิจารณ์ เป็นเหตุ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2351 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 3.6251831054688 sec
Sidebar: 0.010392904281616 sec