การทำปุ๋ยหมัก ( Composting ) ตอนที่ 9 วิธีดูแลกองหมัก

โดย จอมป่วน เมื่อ 1 July 2009 เวลา 9:49 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 64614

ปุ๋ยที่ใช้ได้แล้วจะมีลักษณะยุ่ยเป็นเกล็ดเล็กๆ สีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ ไม่ร้อน แห้งสนิท เหมาะที่จะนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพดินให้ร่วนซุย สารอาหารก็มีพอสมควร

           กองปุ๋ยหมักในถังหมักหรือคอกหมักต้องคอยดูแลให้สภาพแวดล้อมเหมาะต่อการที่ จุลินทรีย์จะย่อยสลายอินทรียสารให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก  คงไม่ลืมปัจจัยที่สนับสนุนการหมักนะครับ  คือต้องดูแลให้มีอากาศเข้าไปในกองหมัก  ให้มีความชื้นที่เหมาะสมและมีอุณหภูมิที่เหมาะสมด้วย
           การที่ จะทำให้มีอากาศเข้าไปในกองหมักได้  ต้องคอยดูอย่าให้มีการอุดตันของรูที่เราเจาะไว้  และขอบล่างของวงบ่อ  ต้องหมั่นดูแลให้อากาศเข้าสู่กองหมักได้สดวก 
           นอกจากนี้ยังต้องคอยกลับกองหมัก  เพื่อให้อากาศเข้าไปในกองหมัก  หลังจากหมักสักระยะหนึ่ง  กองหมักจะยุบตัวลงมา  อากาศก็จะเข้าไปในกองหมักได้ยากขึ้น  การกลับกองก็อาจใช้มือเสือหรือคราดก็ได้  ควรกลับกองหมักทุกอาทิตย์  ถ้ากลับได้บ่อยขึ้นก็จะดี

                   


           ขณะกลับกองหมักให้สังเกตดูความชื้นของกองหมักด้วย  ถ้าแห้งเกินไปก็อาจเติมวัสดุสีเขียวหรือพรมน้ำให้กองก็ได้   ถ้าแฉะเกินไปก็อาจเติมวัสดุสีน้ำตาลเพิ่มลงไป  หรืออาจเปิดฝาคอกหมักหรือถังหมักให้โดนแดด  ช่วยลดความชื้นของกองหมัก
           คอยสังเกตดูอุณหภูมิของกองหมักด้วย  ถ้าทำถูกวิธีกองหมักจะมีอุณหภูมิสูงถึง  90-140 องศาฟาเรนไฮต์   เวลากลับกองอาจสังเกตเห็นไอร้อนจากกองหมัก  หรืออาจเอามือแตะดูจะรู้สึกถึงความร้อนที่มีอยู่ในกองหมัก 
           โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน  ก็จะได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพที่พอจะนำไปใช้ได้  จริงๆแล้วถ้าให้ดีและมีคุณภาพดีที่สุด ( Mature )  ต้องใช้เวลาถึง 120 วัน  ( เหมือนทำเหล้าต้องหมักแล้วบ่มต่อให้ได้ที่จึงจะได้เหล้าที่มีรสกลมกล่อม  ไม่บาดคอ )   ปฏิกริยาต่างๆก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์  ไม่มีความเป็นกรดด่าง  ไม่ใช้ออกซิเจนแล้ว  ไม่มีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์  ไม่มีความร้อนเกิดขึ้นในกอง  แต่ระยะเวลา 90 วันก็จะได้ปุ๋ยหมักที่สามารถนำไปใช้ได้แล้ว

           ในการทำปุ๋ยถ้ามีปริมาณมากอาจใช้ระบบ 2 ถังหรือ 3 ถังก็ได้  คือเราใช้ถังที่1 ก่อน  ทำไปเรื่อยๆจนถังหมักเต็ม  ถ้าใช้เวลา 1 เดือนถังหมักเต็ม  เราก็ใช้ระบบ 3 ถัง   คือเริ่มใช้ถังที่ 2  พอเต็มอีกก็เริ่มใช้ถังที่ 3  พอถังที่ 3 เต็ม  ถังแรกก็จะครบ 90 วันพอดี  เราก็สามารถนำปุ๋ยไปใช้  แล้วเริ่มใช้ถังแรกใหม่   ถ้าถังแรกใช้เวลา 1 เดือนถึงจะเต็ม  เราก็ใช้ระบบ 2 ถังก็พอ 

                 

            ก่อน ที่จะนำปุ๋ยไปใช้ให้นำมาร่อนเสียก่อน  อุปกรณ์สามารถทำเองได้ง่ายๆ  ส่วนที่ผ่านตะแกรงร่อนคือส่วนที่จะนำไปใช้  ส่วนที่มีขนาดใหญ่จะไม่ผ่านตะแกรงร่อนก็นำกลับไปรองพื้นที่ก้นถังหมักอีก ครั้งเพื่อให้อากาศผ่านเข้ากองหมักได้สดวก          

                   

   
           ปุ๋ยที่ใช้ได้แล้วจะมีลักษณะยุ่ยเป็นเกล็ดเล็กๆ  สีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ  ไม่ร้อน  แห้งสนิท  เหมาะที่จะนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพดินให้ร่วนซุย  สารอาหารก็มีพอสมควร  แต่อาจต้องเพิ่มสารเคมีอีกเล็กน้อย ( Enrichment ) ให้เหมาะกับการปลูกพืชแต่ละชนิด


                             


 

« « Prev : การทำปุ๋ยหมัก ( Composting ) ตอนที่ 8 คู่มือขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก

Next : ปุ๋ยขี้วัวทำอะไร- ของอาจารย์หมอวิจารณ์ เป็นเหตุ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2339 ความคิดเห็น