ปุ๋ยขี้วัวทำอะไร- ของอาจารย์หมอวิจารณ์ เป็นเหตุ

3521 ความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 1 July 2009 เวลา 9:53 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 66690

แนะนำอาจารย์หมอวิจารณ์ทำปุ๋ยหมัก อาจารย์สนใจขอทราบรายละเอียด หาเอกสารไม่เจอ เลยต้องตะลุยเขียนลง Blog ม้วนเดียวจบ ปกติ 3-4 เดือนไม่รู้เสร็จรึเปล่า ?

สืบเนื่องจากการที่ได้ไปแวะเยี่ยม Blog ของอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช   http://gotoknow.org/blog/thaikm/122289 หัวข้อ  ” ปุ๋ยขี้วัวทำอะไร “  เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2550   เห็นว่าในชุมชนเมืองเรามีปัญหาการจัดการขยะค่อนข้างมาก  ในฐานะที่เป็นรองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก  รับผิดชอบงานด้านสิ่งแวดล้อมมานานถึง 12 ปี  พอจะมีประสบการณ์ด้านนี้  อีกทั้งได้ทำการศึกษาค้นคว้า ทดลองทำปุ๋ยหมักจากขยะในครัวเรือนมานานพอสมควร  รวมทั้งเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้เรื่องนี้ให้กับประชาชนในเขตเทศบาลนคร พิษณุโลก  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆและหน่วยงานที่สนใจ  เพื่อเป็นการคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะชีวภาพออกจากขยะทั่วไป  ทำให้ปริมาณขยะและค่าใช้จ่ายลดลงอย่างมาก
อ่านๆดู Blog ของอาจารย์แล้วก็มีความคิดว่า   ขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นในบ้านแทนที่เราจะนำมาทำปุ๋ยใช้ประโยชน์  เรากลับขนออกไปทิ้ง  เป็นปัญหาทั้งการเก็บขน  การขนส่งและการกำจัด  รวมทั้งค่าใช้จ่ายก็สูงมาก ( ค่าขยะก็ไม่ยอมจ่ายอีกต่างหาก )   แถมยังต้องไปหาขี้วัวขนเข้ามาในบ้านอีก  ถ้าภาษาชาวป๊อกเด้งก็คงเรียกว่าเสียสองเด้ง  เลยแนะนำให้อาจารย์ลองทำปุ๋ยหมักดู  ปรากฏว่าอาจารย์สนใจและติดต่อขอรายละเอียดมา  เลยรีบค้นหา VDO  เกี่ยวกับการทำปุ๋ย  และเอกสารต่างๆให้อาจารย์
หาเอกสารเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ  โทรหาทีมงานให้ช่วยหาก็ไม่มี  ไม่แน่ใจเอกสารแจกหมดหรือเก็บจนลืม จำไม่ได้ว่าเก็บไว้ที่ไหน  (  ลืมบอกไปว่า  ครบวาระการดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีไปตั้งแต่วันที่ 24  พฤษภาคม 2550  เลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 28  กรกฎาคม 2550  ผลปรากฏว่าชนะยกทีมเป็นสมัยที่ 4  แต่กว่า กกต. จะรับรองผล  นายกเทศมนตรีจะเข้ารับตำแหน่ง  แล้วแต่งตั้งให้เป็นรองนายกเทศมนตรีใหม่ก็เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง เข้าที่ทำงานคราวนี้หาอะไรก็ไม่เจอ อิอิ )  เลยตัดสินใจเขียนลงใน Blogใหม่หมดเลย  เผื่อคนอื่นที่สนใจจะได้อ่านแล้วเอาไปทำด้วย
เลยต้องตะลุยเขียนม้วนเดียวจบ  ถ้าปกติไม่รับปากอาจารย์ไว้ก็คงต้องเขียน  3-4 เดือน ( ไม่รู้จบรึเปล่า  อิอิ )  ดีเหมือนกัน  จะได้เอาไปทำเป็นตำราแจกให้ชาวบ้าน  เวลาจัดการอบรมทำปุ๋ยหมัก  เหมือนเรื่องของคนเคยอ้วน คนชอบวิ่ง เขียนยังไม่จบดีเลย  ไปทำโครงการคลินิคหุ่นดีซึ่งเป็นโครงการลดน้ำหนักให้เด็กนักเรียนโรงเรียน สาธิตมัธยม  มหาวิทยาลัยนเรศวรก็รวบรวมเอาเรื่องที่เขียนไว้ใน Blog จัดพิมพ์เป็นคู่มือแจกให้นักเรียนที่เข้าโครงการไปแล้ว อิอิ


ออกแบบปกโดย พี่สุ ครับ

G2K 4 กย. 2550

หมายเหตุ…. พี่สุ  คือ  ครูสุคนสวย  แซ่เฮ


การทำปุ๋ยหมัก ( Composting ) ตอนที่ 9 วิธีดูแลกองหมัก

2351 ความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 1 July 2009 เวลา 9:49 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 65181

ปุ๋ยที่ใช้ได้แล้วจะมีลักษณะยุ่ยเป็นเกล็ดเล็กๆ สีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ ไม่ร้อน แห้งสนิท เหมาะที่จะนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพดินให้ร่วนซุย สารอาหารก็มีพอสมควร

           กองปุ๋ยหมักในถังหมักหรือคอกหมักต้องคอยดูแลให้สภาพแวดล้อมเหมาะต่อการที่ จุลินทรีย์จะย่อยสลายอินทรียสารให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก  คงไม่ลืมปัจจัยที่สนับสนุนการหมักนะครับ  คือต้องดูแลให้มีอากาศเข้าไปในกองหมัก  ให้มีความชื้นที่เหมาะสมและมีอุณหภูมิที่เหมาะสมด้วย
           การที่ จะทำให้มีอากาศเข้าไปในกองหมักได้  ต้องคอยดูอย่าให้มีการอุดตันของรูที่เราเจาะไว้  และขอบล่างของวงบ่อ  ต้องหมั่นดูแลให้อากาศเข้าสู่กองหมักได้สดวก 
           นอกจากนี้ยังต้องคอยกลับกองหมัก  เพื่อให้อากาศเข้าไปในกองหมัก  หลังจากหมักสักระยะหนึ่ง  กองหมักจะยุบตัวลงมา  อากาศก็จะเข้าไปในกองหมักได้ยากขึ้น  การกลับกองก็อาจใช้มือเสือหรือคราดก็ได้  ควรกลับกองหมักทุกอาทิตย์  ถ้ากลับได้บ่อยขึ้นก็จะดี

                   


           ขณะกลับกองหมักให้สังเกตดูความชื้นของกองหมักด้วย  ถ้าแห้งเกินไปก็อาจเติมวัสดุสีเขียวหรือพรมน้ำให้กองก็ได้   ถ้าแฉะเกินไปก็อาจเติมวัสดุสีน้ำตาลเพิ่มลงไป  หรืออาจเปิดฝาคอกหมักหรือถังหมักให้โดนแดด  ช่วยลดความชื้นของกองหมัก
           คอยสังเกตดูอุณหภูมิของกองหมักด้วย  ถ้าทำถูกวิธีกองหมักจะมีอุณหภูมิสูงถึง  90-140 องศาฟาเรนไฮต์   เวลากลับกองอาจสังเกตเห็นไอร้อนจากกองหมัก  หรืออาจเอามือแตะดูจะรู้สึกถึงความร้อนที่มีอยู่ในกองหมัก 
           โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน  ก็จะได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพที่พอจะนำไปใช้ได้  จริงๆแล้วถ้าให้ดีและมีคุณภาพดีที่สุด ( Mature )  ต้องใช้เวลาถึง 120 วัน  ( เหมือนทำเหล้าต้องหมักแล้วบ่มต่อให้ได้ที่จึงจะได้เหล้าที่มีรสกลมกล่อม  ไม่บาดคอ )   ปฏิกริยาต่างๆก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์  ไม่มีความเป็นกรดด่าง  ไม่ใช้ออกซิเจนแล้ว  ไม่มีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์  ไม่มีความร้อนเกิดขึ้นในกอง  แต่ระยะเวลา 90 วันก็จะได้ปุ๋ยหมักที่สามารถนำไปใช้ได้แล้ว

           ในการทำปุ๋ยถ้ามีปริมาณมากอาจใช้ระบบ 2 ถังหรือ 3 ถังก็ได้  คือเราใช้ถังที่1 ก่อน  ทำไปเรื่อยๆจนถังหมักเต็ม  ถ้าใช้เวลา 1 เดือนถังหมักเต็ม  เราก็ใช้ระบบ 3 ถัง   คือเริ่มใช้ถังที่ 2  พอเต็มอีกก็เริ่มใช้ถังที่ 3  พอถังที่ 3 เต็ม  ถังแรกก็จะครบ 90 วันพอดี  เราก็สามารถนำปุ๋ยไปใช้  แล้วเริ่มใช้ถังแรกใหม่   ถ้าถังแรกใช้เวลา 1 เดือนถึงจะเต็ม  เราก็ใช้ระบบ 2 ถังก็พอ 

                 

            ก่อน ที่จะนำปุ๋ยไปใช้ให้นำมาร่อนเสียก่อน  อุปกรณ์สามารถทำเองได้ง่ายๆ  ส่วนที่ผ่านตะแกรงร่อนคือส่วนที่จะนำไปใช้  ส่วนที่มีขนาดใหญ่จะไม่ผ่านตะแกรงร่อนก็นำกลับไปรองพื้นที่ก้นถังหมักอีก ครั้งเพื่อให้อากาศผ่านเข้ากองหมักได้สดวก          

                   

   
           ปุ๋ยที่ใช้ได้แล้วจะมีลักษณะยุ่ยเป็นเกล็ดเล็กๆ  สีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ  ไม่ร้อน  แห้งสนิท  เหมาะที่จะนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพดินให้ร่วนซุย  สารอาหารก็มีพอสมควร  แต่อาจต้องเพิ่มสารเคมีอีกเล็กน้อย ( Enrichment ) ให้เหมาะกับการปลูกพืชแต่ละชนิด


                             


 


การทำปุ๋ยหมัก ( Composting ) ตอนที่ 8 คู่มือขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก

3472 ความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 1 July 2009 เวลา 9:41 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 74442

การทำปุ๋ยหมัก ( Composting ) ตอนที่ 8 คู่มือขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก

เห็นไหมครับ ง่ายนิดเดียว น่าทำไหมครับ

ถ้าตัดสินใจว่าจะทดลองทำปุ๋ยหมักแน่นอนแล้วก็อ่านต่อนะครับ  ได้ทำเลดีๆในสวนหลังบ้านตามที่ได้แนะนำไว้แล้ว  ต่อไปก็เลือกแบบถังหมักหรือคอกหมักที่ถูกใจ  ถ้ายังไม่ตัดสินใจแนะนำให้ใช้วงบ่อคอนกรีตมาทดลองทำก่อนนะครับ  จะใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม.  หรือ 1 เมตรก็ได้   เจาะโดยรอบวงบ่อให้มีรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 ซม.   ประมาณ 10-12 รูโดยรอบวงบ่อ   เพื่อให้อากาศสามารถเข้าถึงกองหมักได้สดวก



เวลาวางถังหมักให้รองขอบวงบ่อให้สูงพ้นพื้นเล็กน้อย  เพื่อให้อากาศสามารถผ่านเข้าถังหมักจากด้านล่างได้  และจะช่วยระบายน้ำ ( กรณีที่ท่านวางวงบ่อบนพื้นปูน )
เอากิ่งไม้ที่มีขนาดใหญ่วางรองก้นถังหมักเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สดวก  หนาประมาณ 5-10 ซม.  คราวนี้ก็นำเอาวัสดุสีน้ำตาลและวัสดุสีเขียวผสมกันให้ได้สัดส่วนตามที่เคย แนะนำไว้  นำลงไว้ในถังหมักหรือคอกหมัก  ถ้าท่านผสมได้ถูกต้องจะได้กองหมักที่มีความชื้นพอสมควร  ไม่แห้งหรือไม่แฉะเกินไป  ถ้าแห้งเกินไปอาจพรมน้ำลงไปเล็กน้อย  หรือถ้าแฉะเกินไปก็ให้เพิ่มปริมาณของวัสดุสีน้ำตาลเพิ่มลงไป  เสร็จแล้วให้คลุมกองหมักด้วยวัสดุสีน้ำตาล  ซึ่งวัสดุสีน้ำตาลชั้นนี้จะทำหน้าที่ดูดซับกลิ่น  ทำให้กองหมักไม่เหม็นรบกวนเราและเพื่อนบ้าน
วัสดุสีน้ำตาลจะมีสัดส่วนของคาร์บอนสูง  จะทำหน้าที่เหมือนที่เราใช้ถ่านในการดับกลิ่น  ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่าทำหน้าที่เป็น Biofilter  จะดูดซับกลิ่นทำให้ไม่มีกลื่นเหม็นรบกวน
ในการทำจริงๆ  เราจะมีวัสดุสีน้ำตาล ( กิ่งไม้  ใบไม้ ใบหญ้าแห้ง )  ที่เราสามารถเก็บรวบรวมไว้ก่อนเป็นจำนวนมาก  ถ้าเป็นกิ่งไม้ก็ควรจะตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆแล้วใส่เข่งหรือถุงปุ๋ยเพื่อเก็บ ไว้ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ย
ส่วนวัสดุสีเขียวส่วนมากจะเป็นเศษผัก   เศษผลไม้ที่เกิดขึ้นทุกวัน  ( ถ้ายังไม่แน่ใจก็อย่าเพิ่งนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมัก  แต่ถ้าชำนาญแล้วก็สามารถนำไปหมักได้  ไม่มีปัญหาอะไร )  วัสดุพวกนี้พวกนี้มักจะเกิดขึ้นในครัวหรือห้องรับประทานอาหารเป็นส่วนใหญ่  ก็สามารถรวบรวมไว้ในภาชนะที่ใช้รวบรวมเรียกว่า Minibin หรือ  Compost Pail   แล้วนำไปทิ้งในถังหมักได้ทุกเย็น  ล้างภาชนะให้สะอาดแล้วนำกลับมาไว้ที่เดิม



เวลามีเศษผัก  เศษผลไม้และเศษอาหารเพิ่มทุกวัน  เราก็นำไปไว้ในคอกหมักปุ๋ยทุกวัน  เพราะถ้าปล่อยไว้หลายวันจะมีกลิ่นเหม็นรบกวนในบ้าน  เวลาจะนำลงในถังหมักก็ควรจะเปิดชั้นวัสดุสีน้าตาลออก   แล้วเ้ทวัสดุสีน้ำตาลเพิ่มลงไป  ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันโดยใช้คราดหรือมือเสือก็ได้  แล้วปิดกองด้วยวัสดุสีน้ำตาลเพื่อไม่ให้มีกลิ่น
เห็นไหมครับ  ง่ายนิดเดียว  น่าทำไหมครับ  ตอนต่อไปจะแนะนำวิธีดูแลกองหมัก  คอยติดตามนะครับ




Main: 0.032755136489868 sec
Sidebar: 0.009429931640625 sec