ฉาสุ่ย (茶水) หรือน้ำชา

อ่าน: 59262

วันนี้ได้รับชา เป็นของฝากจากเมืองจีน จาก คุณนุช(นายด็อกเตอร์)ทีเพิ่งกลับจากเมืองจีน ที่เคยฝากชาซากุระมาให้เมื่อครั้งไปญี่ปุ่นมา พูดถึงชา แล้วอยากเล่าสู่กันฟังสำหรับผู้ชื่นชอบชา การมอบชาถือเป็นวัฒนธรรมที่งดงามของจีนที่มีมายาวนาน ซึ่งมักจะมอบให้กับผู้เราเคารพนับถือ และครูบาอาจารย์ค่ะ สมัยที่เรียนอยู่ต่างประเทศก็จะได้รับชาเป็นของฝาก ของกำนัลจากเพื่อนๆ ชาวต่างชาติเสมอมา แม้แต่ซุปเปอร์ไวเซอร์ ยังซื้อถ้วยชาและชาชั้นหนึ่งจากเมืองจีนมาฝากเลยค่ะ

ชาที่ได้รับวันนี้มีสามชนิด เป็นชาจากเมืองหังโจวค่ะ  

1. ชาหลงจิ่ง เป็นชาเขียวที่ดีที่สุดของจีน

2. ชาดอกกุ้ยฮัว หอมมาก ดอกไม้ที่ใช้ผสมนี้ออกดอกปีละครั้ง

3. ดอกเก๊กฮวยขาว เมืองหังโจว ที่มีชื่อเสียงมาก

ชาในกล่องรูป หัวใจสีทอง เป็นชาเขียวหลงจิ่ง

ชาในกล่องรูป หัวใจสีเงิน เป็นชาดอกกุ้ยฮัว

ส่วนในขวดแก้วเป็นเก็กฮวยขาว

พูดถึงเรื่องชา อยากที่จะให้เพื่อนพ้องน้องพี่ได้รู้จักประวัติคร่าวๆ ของชา เลยไปค้นหาข้อมูลมาฝาก ที่สั้น และกระชับให้ความรู้ความเข้าใจได้ภายในเวลาสั้นๆค่ะ จึงนำมาฝากจากเวปข้างล่างนี้ค่ะ ขอขอบคุณไว้ ณ.ที่นี้ด้วยค่ะ

http://writer.dek-d.com/Writer/story/viewlongc.php?id=315342&chapter=7

ขอเพิ่มคำอ่านภาษาจีน ในชาชนิดที่ 1. ชาเขียว ภาษาจีนอ่านว่า ลี่ฉา (绿) ค่ะ

ฉา

มาเหยียบถึงเมืองจีน นอกจาก 3 คำ เบสิก ที่จะต้องพูดได้ก่อนคือ “สวัสดี แล้วพบกันใหม่ และ ขอบคุณ” แล้ว คำที่ผมพูดได้ก่อนเลยก็คือ ฉา!”

จะให้พูดไม่เป็นได้อย่างไรละครับ “ฉา” ภาษาจีนกลาง กับ “ชา” ภาษาไทย เสียงมันใกล้เคียงกันออกขนาดนั้น แล้วมาถึงเมืองจีน ใครๆ ก็กินแต่เครื่องดื่มที่เรียกว่า น้ำชา” หรือ ฉาสุ่ย (茶水)” กัน ไปตามร้านอาหาร เขาไม่เสิร์ฟน้ำเปล่าเหมือนบ้านเรา แต่เขามาเป็นกา แล้วก็จอกน้ำชา แล้วจะริน จะซดกันเช่นไร ก็ตามใจชอบ

ด้วยความประหยัด คนจีนนั้นมักจะพกขวดน้ำชาออกจากบ้านติดตัวไปทำงานกันจนติดเป็นนิสัย พอกระหาย หรือคอแห้งก็เปิดชาอุ่นๆ มาจิบ มาจิบ … ชุ่มคอเสียจริง : )

อย่างไรก็ตาม คนจีนเขาไม่ได้ อยู่ในกระแสของ “ชาเขียว” หรือ “กระแสกินกาแฟ” เหมือนกับที่บ้านเราเป็นมาได้ช่วงหนึ่งแล้ว เพราะ จริงๆ แล้วใครก็ทราบว่า “ชา” ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนจีน รวมถึงชาติรอบข้างเช่น เกาหลีและญี่ปุ่น มาอย่างยาวนาน ไม่ได้เป็นเพียงแฟชั่น หรือ เครื่องดื่มที่ดื่มแล้วดื่มเลย แต่ “ศาสตร์เกี่ยวกับชา” นั้นมี ศิลปะ ความล้ำลึก และประวัติศาสตร์ในตัวมันเอง

ตามบันทึกประวัติศาสตร์แล้ว เรื่องเล่าของต้นกำเนิดเครื่องดื่มชา ของคนจีน มีมาตั้งแต่เมื่อ 4,700 กว่าปีที่แล้ว ขณะที่ จักรพรรดิเสินหนง หรือเทพเกษตร เดินทางเสาะหาสมุนไพรอยู่ในป่าก็ถูกพิษจากพืชบางประการ อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์จักรพรรดิได้ดื่มน้ำที่มีผสมกับใบชาโดยบังเอิญ ก็พบว่าน้ำชานั้นสามารถแก้พิษได้อย่างอัศจรรย์

ก่อนที่ประเทศจีน จะถูกรวมเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว ได้เป็นครั้งแรกในสมัยฉินสื่อหวงตี้ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้เมื่อ ก่อน ค.ศ.221 ปี พื้นที่ที่ปลูกต้นชาโ ดยมากนั้นจะอยู่ในแถบทางตอนใต้ บริเวณที่เป็นมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) และ ซื่อชวน (เสฉวน) ในปัจจุบัน ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะถูกนำไปเผยแพร่และปลูกในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) มีการปลูกต้นชามามายในบริเวณลุ่มแม่น้ำฉางเจียง หรือ แยงซีเกียง

ทั้งนี้ในสมัยราชวงศ์ถังเช่นเดียวกันนี้เอง ก็มีตำราเกี่ยวกับชาเล่มแรกออกเผยแพร่สู่ชาวโลก โดยตำราเล่มนั้นมีชื่อว่า คัมภีร์ชา หรือ ฉาจิง ()” แต่งโดย ลู่หยู่ หนึ่งในกวีสำคัญสมัยถัง ที่ต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์ชา” โดยลู่หยู่ บันทึกไว้อย่างละเอียดถึง เครื่องมือการชงชา วิธีการชงชา อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการชงชาชนิดต่างๆ พร้อมระบุด้วยว่า หากดื่มชาในเช้าจะทำให้สดชื่น สามารถทำงานได้กระฉับกระเฉง ส่วนตอนกลางคืนก็จะทำให้ตาสว่าง ทั้งนี้การดื่มชาเข้ม จะช่วยลดความอ้วน และไม่ควรดื่มน้ำชาพร้อมกับยาชนิดอื่น เพราะชามีฤทธิ์ทำลายสรรพคุณของยาอื่น

นอกจาก คัมภีร์ชา หรือ ฉาจิง แล้วในประวัติศาสตร์จีนยังมีตำราเกี่ยวกับชาอีกหลายเล่มอย่างเช่น บันทึกชา (ฉาลู่: 茶录), สมุดชา (ฉาผู่: 茶谱), ประวัติชา (ฉาสื่อ: 茶史)

การเปลี่ยนแปลงของ “ใบชา” จาก “ยา” มาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวันนั้นเกิดขึ้นในช่วง ราชวงศ์เหนือและใต้ (ค.ศ.220-581) เมื่อคนทั่วไปเริ่มรู้สึกว่า “น้ำชา” นั้นมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และรสก็ไม่ได้ขมจนเกินไปนัก ทั้งนี้คนจีนในยุคนั้นก็ไม่ได้กินน้ำชาเปล่าๆ อย่างเช่นปัจจุบัน แต่มีการปรุงแต่ง เช่นเอา ขิง เกลือ ผสมไปกับน้ำชาด้วย จนกระทั่งในสมัยของราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ชาวจีน ถึงเริ่มตัดเครื่องปรุงแต่งทิ้งไป แล้วดื่มน้ำชาเปล่าๆ

ใน ศตวรรษที่ 17-18 ยุคของการล่าอาณานิคม ความนิยมในการดื่มชาของชาวจีนก็ได้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก รวมไปถึง “อังกฤษ” มหาอำนาจในยุคนั้น ที่เมื่อรับเอาชาไปจากจีนแล้ว ก็ดื่มกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งต่อมาวัฒนธรรม Afternoon Tea หรือ การดื่มชาตอนบ่าย จึงเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก และอังกฤษยังนำชาไปให้ประเทศในอาณานิคมปลูก อย่างเช่น ศรีลังกา ที่ปัจจุบันสินค้าออกก็ยังเป็น “ใบชา”

<<ชา เป็นของขวัญวิเศษที่ชาวจีนมอบให้ฝรั่ง แต่ฝรั่งบางชาติกลับตอบแทนชาวจีนด้วยการส่ง “ฝิ่น” มาทำลายคนจีน กระทั่งทำให้ชาวจีนไม่น้อยตกเป็นขี้ข้าของฝรั่ง เป็นทาสของฝิ่นอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ฝรั่งได้ชาไปจากจีนแล้วกลายเป็น “ผู้ดี” จีนได้ฝิ่นมาจากฝรั่งแล้วกลายเป็น “ผู้ร้าย”>>

ด้วยความนิยมของการดื่มชา ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกทำให้มีชาชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมายทั่วโลกนับเป็นพันๆ ชนิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนจีนก็ยังคงจำแนกชา” ออกเป็นประเภทหลัก 5 ประเภทคือ

1.ชาเขียว (绿) อันเป็นชาซึ่งไม่ผ่านการหมักเลย ทั้งนี้ชาเขียวที่ขึ้นชื่อ (ไม่ใช่ชาเขียวโออิชิ หรือ ลีวัง ที่ขายตาม ร้านสะดวกซื้อบ้านเรานะครับ) ก็เช่น ชาหลงจิ่ง จากซีหู หังโจว, ปี้หลัวชุน จากไท่หู เจียงซู และ ชาเหมาเฟิง จากหวงซาน

2.ชาแดง หรือ ชาดำ () คือ ชาที่ผ่านกระบวนการหมักมาแล้ว ชาที่ขึ้นชื่อเช่น ชาเตียนหง จากหยุนหนาน, ชาฉีหง จากอานฮุย, ชวนหง จากซื่อชวน และ หูหง จากหูหนาน

3.ชาอูหลง (乌龙) เป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมัก ให้อยู่กึ่งกลางระหว่างชาเขียว และชาดำ โดยชาอูหลงที่ขึ้นชื่อที่สุด ก็คือ ชาเถี่ยกวนอิน หรือ กวนอิมเหล็ก จากฝูเจี้ยน หรือ จากเกาะไต้หวันก็คือ ไถวานอูหลงฉา

4.ชาอัดแท่ง (จิ่นยาฉา: 紧压茶) อันเป็นชาที่ถูกอัดแน่นให้เป็นรูปร่างต่างๆ เหมาะกับการเก็บ และการเดินทาง (โดยมากจะถูกอัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนแท่งอิฐ จนฝรั่งเรียกว่า Brick Tea) ชาชนิดนี้เป็นชาที่ชนกลุ่มน้อยของจีนนิยมดื่มกัน โดยเฉพาะ ในมณฑลหูเป่ย หูหนาน ซื่อชวน และหยุนหนาน

5.ชาดอกไม้ (花茶) เป็นชาที่ผสมดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมเข้าไปด้วย ชาดอกไม้อันเป็นที่นิยมกันมากก็คือ ชามะลิ โดยเฉพาะจาก หางโจว และซูโจว นอกจากนี้ ก็ยังมีชาดอกไม้ชนิดอื่นๆ อีกมากมายเช่น ชาดอกกุหลาบ โดย ตอนนี้ การทำ ดื่ม และมอบชาดอกไม้ให้เป็นของขวัญกับเพื่อนฝูง กำลังเป็นกระแสมาแรงในบรรดาหมู่คนรุ่นใหม่ในปักกิ่ง ด้วยรูป รส ที่ดึงดูดมากกว่าชาประเภทอื่น

ความคุ้นเคยในการดื่มชา” ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราสังเกตได้ว่า คนนั้นๆ มาจากพื้นที่ใด เพราะคนจีนที่มาจากภาคใต้ส่วนมากจะนิยมดื่มชาเขียว ส่วนคนจีนภาคเหนือนั้นจะนิยมดื่มชาดอกไม้ … (ส่วนชาใส่นมสด ก็น่าจะเป็นฝรั่งจากแดนผู้ดี)”

ส่วนท่านผู้อ่านที่สงสัยว่า ชาถุง Ready to Drink (RTD) อย่างเช่น ชาลิปตัน ที่บ้านเรากินกันนั้น ชาวจีนเขาแยกไว้ในประเภทไหนนั้น ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน? เพียงแต่ทราบว่าชาถุงนั้นเป็นชาคุณภาพต่ำที่ถูกคัดตกออกมาอีกที

ชา” นั้นมีหลายระดับครับ เขาบอกว่าชาอย่างดีนั้นต้องประกอบด้วย รูป รส กลิ่น สี ทำให้บางครั้งก็อาจราคาแพงถึง หลายพันหลายหมื่นหยวนต่อจิน (500 กรัม) ส่วนชาพื้นๆ อย่างที่เสริมกันในร้านอาหารก็ตกเฉลี่ย 20 หยวนต่อจิน

เช่นเดียวกับ “งานศิลปะ” ละครับ “การดื่มชา” ก็เป็นศาสตร์อย่างนึง คนที่ไม่มีศิลป์ซื้อภาพวาด ประติมากรรมแพงอย่างไรก็คง ไม่ทราบถึงความหมาย เช่นกัน คนที่ลิ้นไม่ถึง ไม่ลึกซึ้งถึงรสชาติของ “ชา” ดื่ม ชาดี ชาแพง อย่างไรก็คงเสียเงินฟรีเปล่าๆ สู้ดื่มชาธรรมดา แล้วเก็บเงินเอาไว้กินข้าวให้อิ่มท้องเสียดีกว่า”

เครดิต http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=2000000034600

« « Prev : เชื่อเขาเลย

Next : อาหารหลัก ห้าหมู่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

11140 ความคิดเห็น