งานวิจัยศาสนากับเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
งานวิจัยศาสนากับเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
เปิดเผยผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของการมี “ศาสนาประจำชาติ”
โดย เสรีภาพ ณ ชะเยือง
ประเด็นการบรรจุข้อความ”ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นข้อโต้แย้งที่ฝ่ายผู้เรียกร้องและผ่ายต่อต้านต่างใช้เพียงความเห็นทางการเมืองส่วนตัวในการเอาชนะซึ่งกันและกัน โดยยังไม่เห็นมีใครนำข้อมูลทางวิชาการด้านอื่นที่หนักแน่นหน่อยมาพิจารณาข้อดีข้อเสียกันเลย ยิ่งถ้าไปถามคนแก่หรือผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่สนใจและรู้จักศาสนาเพียงแค่ว่า คือสิ่งที่จะสอนให้คนหลุดพ้นจากโลภ โกรธ หลง หรือกิเลศ โดยไม่เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดจากความเป็นไปทางสังคมและเศรษฐกิจโลกและการต่อสู้กับกระแสวัตถุนิยม เพื่อเผยแพร่หรือความอยู่รอดของศาสนาต่างๆในโลกนี้ ยิ่งชี้นำกันไปในทางที่หลุดจากโลกแห่งความเป็นจริงไปเลย
ผู้เขียนได้สืบค้นพบงานวิจัย 4 ชิ้น เกี่ยวกับผลของการมีศาสนาประจำชาติ(State Religion) และศรัทธาในศาสนาของประชาชน ต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งในวงการวิชาการถือว่าเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลกที่พยายามหาคำตอบเรื่องนี้โดยใช้วิธีการวิจัยสมัยใหม่ ที่ใช้ตัวเลขมาวิเคราะห์หาคำตอบ โดยใช้ข้อมูลจาก 130 ประเทศที่ทำการสำรวจย้อนหลังนานถึง 30 ปี ระหว่างปี 2513/1970 ถึง 2543/2000 ในบางประเด็น ใช้ข้อมูลถึง 188 ประเทศ
หัวหน้าคณะผู้วิจัยคือ ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต เจ. บาร์โร ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง ระดับที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลมาแล้ว จึงขอนำมาเสนอให้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาในเรื่องนี้อีกทางหนึ่ง
ในเอกสารนี้ จึงเป็นการนำเสนอ งานวิจัยเกี่ยวกับผลของการมีศาสนาประจำชาติและศรัทธาความเชื่อทางศาสนาต่ออัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมรายชื่อและจำนวนประเทศที่ประกาศศาสนาประจำชาติ จากการวิจัยของศาสตราจารย์ Dr. Robert J. Barro และ Dr. Rachel M. McCleary แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม 2547 โดยผู้เขียนได้สรุปประเด็นสำคัญมาให้ผู้ที่สนใจได้เห็นว่า การกำหนดให้มีศาสนาประจำชาติ มีข้อดีข้อเสียในแง่ทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างไร
งานวิจัยนี้ยังครอบคลุมถึง ผลของความเชื่อและศรัทธาในศาสนา ที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้นด้วย ผู้ที่สนใจเอกสารต้นฉบับเต็มของงานวิจัยที่อ้างไว้ท้ายเอกสารนี้ สามารถดาวโหลดได้ที่http://www.economics.harvard.edu/faculty/barro/workpapers.html)
1. งานวิจัยเกี่ยวกับผลของการมีศาสนาประจำชาติและศรัทธาความเชื่อทางศาสนาต่ออัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ
ศาสตราจารย์ Robert J. Barro เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกในเรื่องทฤษฎี Macroeconomics และ Monetary Policy จนเป็นผู้หนึ่ง ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2003 ในระยะหลังท่านได้หันมาสนใจเรื่องผลกระทบของศาสนาและวัฒนธรรมต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จึงได้ทำงานวิจัยด้านนี้ไว้ 4 ชิ้นด้วยกัน ดังได้ระบุไว้ในตอนท้ายเอกสารนี้ [1]-[4] งานวิจัยนี้ท่านทำร่วมกับ Dr. Rachel M. McCleary ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ โครงการศาสนา เศรษฐศาสตร์การเมืองและสังคม ของศูนย์เวตเตอร์เฮดเพื่อการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเดียวกัน (Director of the Religion, Political Economy, and Society Project at the Weatherhead Center for International Affairs, Harvard University.)
1.1. ประเทศที่มีศาสนาประจำชาติ(State Religion)
งานวิจัยนี้ ใช้ข้อมูลจากประเทศที่ถือว่ามีศาสนาประจำชาติจากปี 2513/1970 จนถึงปี 2543/2000 ดังแสดงอยู่ในตารางที่ 1b ซึ่งผู้เขียนนำมาจากงานวิจัยในหัวข้อ “ประเทศใดมีศาสนาประจำชาติ (Which Countries Have State Religions?) “[1] ตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม 2547 ซึ่งเป็นข้อมูลจากประเทศที่มีเอกราช 188 ประเทศ ระหว่างปี 1900 ถึง 2000 งานวิจัยชิ้นนี้ ต้องการวิเคราะห์ว่า ประเทศต่างๆ ในโลกนี้ ประเทศใดมีศาสนาประจำชาติ และแนวโน้มเป็นอย่างไร ซึ่งผู้เขียนจะไม่กล่าวรายละเอียดในประเด็นนี้ แต่นำเสนอเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นว่า งานวิจัยด้านผลกระทบของศาสนาประจำชาติต่อประชาชนและเศรษฐกิจ เขาเอาข้อมูลมาจากไหน
ตารางที่ 1b ประเทศที่มีศาสนาประจำชาติในปี 2000, 1970, 1900 จากงานวิจัย Which Countries Have State Religions?*โดย Robert J. Barro และ Rachel M. McClearyHarvard University. March 2004
จากตารางนี้จะเห็นว่า ประเทศที่กำหนดให้มีศาสนาประจำชาติไม่ได้มีจำนวนน้อยอย่างที่คิด และส่วนใหญ่ ไม่ได้มีการแตกแยกหรือมีปัญหากับศาสนาของคนส่วนน้อยในประเทศอย่างที่บางคนนำมาอ้าง
การจำแนกว่าประเทศใดมีศาสนาประจำชาติหรือไม่ ผู้วิจัยมิได้มองที่การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตรงๆ เท่านั้น แต่ดูจากการสนับสนุนเกื้อกูลของรัฐบาลด้วยกฎหมายลูก หรืองบประมาณที่ให้แก่ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ รวมถึงการบังคับให้เรียนวิชาศาสนาใดศาสนาหนึ่งในโรงเรียนด้วย จากตารางที่ 1b จะเห็นว่ามีประเทศทีีมีศาสนาประจำชาติทั้งสิ้น 58 ประเทศ ในกลุ่มนี้ มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้น ที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ในขณะที่คริสต์ศาสนาซึ่งรวมโปรเตสแตนต์ด้วยมีมากที่สุด รองลงมาคืออิสลาม
งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อสังเกตคือ ในรอบ 100 ปี กระแสโลกาภิวัฒน์ และอิทธิพลต่างๆ จากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น ค่านิยม ศาสนา ปรัชญา และวัฒนธรรม ทำให้หลายประเทศละทิ้งค่านิยม ศาสนา ปรัชญา และวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไป แล้วพยายามจัดระบบกฎหมายและสังคมเอาอย่างพวกมหาอำนาจ โดยไม่ดูให้ดีว่าเหมาะสมกับประเทศตนหรือไม่ ทำให้หลายประเทศที่เคยประกาศศาสนาประจำชาติ ได้ลบข้อความในรัฐธรรมนูญ หรือยกเลิกกฎหมายที่สนับสนุนศาสนาของคนส่วนใหญ่ออกไป ทำให้หมดลักษณะของประเทศที่ถือว่ามีศาสนาประจำชาติไป ดังแสดงในตาราง 1c ถึง 1d
ประเทศที่ละทิ้งศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเนื่องจากอิทธิพลดังกล่าว ได้แก่ พม่า ลาว ญี่ปุ่น และมองโกเลีย
แต่หลังจากยกเลิกศาสนาประจำชาติไปแล้ว ก็มีบางประเทศเห็นว่าไม่เหมาะสม ต้องประกาศใช้ใหม่ ดังปรากฏในตารางที่ 1e ซึ่งมี 12 ประเทศ
มีบางประเทศที่ไม่เคยมีศาสนาประจำชาติมาก่อน ได้ประกาศให้มีขึ้น ดังแสดงในตาราง 1f และ 1g รวม 5 ประเทศ
ตารางที่ 1c ประเทศที่เคยมีศาสนาประจำชาติในปี 1900 และยกเลิกในปี 1970
ตารางที่ 1d ประเทศที่เคยมีศาสนาประจำชาติในปี 1900 และยกเลิกในปี 2000
ตารางที่ 1e ประเทศที่เคยมีศาสนาประจำชาติในปี 1900 ยกเลิกในปี 1970 แล้วประกาศศาสนาประจำชาติขึ้นมาใหม่ในปี 2000
ตารางที่ 1f ประเทศที่ไม่เคยมีศาสนาประจำชาติในปี 1900 และประกาศให้มีศาสนาประจำชาติขึ้นก่อนปี 1970
ตารางที่ 1g ประเทศที่ไม่เคยมีศาสนาประจำชาติในปี 1900 และประกาศให้มีศาสนาประจำชาติขึ้นก่อนปี 2000
1.2. ผลกระทบของการมีศาสนาประจำชาติต่อประชาชน
นักวิจัยสมัยใหม่ส่วนใหญ่วิเคราะห์ผลของศาสนาต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้ “religion-market model” ซึ่งริเริ่มโดยนักวิจัยที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งคือ Adam Smith (Smith [1791, Book V, Article III) และขยายขอบเขตโดย Finke and Stark (1992) โดยให้ความเห็นว่า การมีศาสนาประจำชาติ(State Religion) จะทำให้เกิดการผูกขาดทางศาสนา ซึ่งส่งผลให้ปิดกั้นนวตกรรมทางศาสนาและเกิดความเฉื่อยชาในการทำกิจกรรมต่างๆ และทำให้คุณภาพทางการบริการและการมีส่วนร่วมทางศาสนาลดลง
แต่งานวิจัยของศาสตราจารย์ โรเบิร์ต บาร์โร ขัดแย้งกับทฤษฎีดั้งเดิมนี้ ท่านพบจากงานวิจัย [2] และ [4] ว่า การมีศาสนาประจำชาติ เกิดผลต่างๆ ที่สรุปได้ดังนี้
1. รัฐให้การสนับสนุนศาสนาหลักมากขึ้น
2. ส่งเสริมให้มีการลงทุนในองค์กรศาสนามากขึ้น
3. ประชาชนมีส่วนร่วมและศรัทธาในศาสนามากขึ้น [1],[2],[5]
ผู้วิจัยให้เหตุผลว่า คงเป็นเพราะผลจากข้อ 1 และ 2 จึงทำให้เกิดผลดีในข้อ 3 เนื่องจากข้อ 1 และ 2 ไปปกปิดจุดด้อยของการผูกขาดตามทฤษฎีเก่าได้
ในงานวิจัย [2] หัวข้อ C. Effects of State Religion, State Regulation, and Communism หน้า 28 ผู้วิจัยอภิปรายผลการวิจัยว่า การกำหนดให้มีศาสนาประจำชาติ ส่งผลให้เพิ่มอัตราการเข้าโบสถ์ต่อเดือนได้ประมาณ 19 %
1.3 ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการมีศรัทธาความเชื่อในศาสนามากขึ้น
เป็นที่ถกเถียงกันมานานว่า ถ้าคนศรัทธาในศาสนามาก จะส่งผลให้เฉื่อยชาไม่กระตือรือร้นในการสร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจ หรือว่า ทำให้ขยันขันแข็งอุทิศตนให้แก่งานมากขึ้น งานวิจัยของศาสตราจารย์โรเบิร์ต บาร์โร ให้คำตอบนี้ โดยใช้ผลการวิจัยด้วยข้อมูลตัวเลขเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งผลจากงานวิจัย [2] และ [4] ที่ตีพิมพ์ในหัวข้อ “Religion and Economic Growth” Barro, Robert J., McCleary, Rachel M., April 2003 และ “Religion and Political Economy in an International Panel” Barro, Robert J., McCleary, Rachel M., May 2002. ปรากฏผลที่น่าสนใจหลายเรื่อง เฉพาะประเด็นที่สำคัญต่อการพิจารณาความสำคัญของศาสนาต่อระบบการเมืองการปกครอง มีดังนี้
1. ถ้าการไปวัดหรือมีส่วนร่วมทางศาสนาคงที่ แต่ประชาชนมีศรัทธาความเชื่อในศาสนามากขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่องนรก สวรรค์ และการตายแล้วเกิด จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น (รูปที่ 5 และ รูปที่ 7 จาก [2] ดูได้ที่ท้ายบทความนี้)
2. ถ้าประชาชนมีศรัทธาความเชื่อในศาสนาคงที่ เมื่ออัตราการไปวัดหรือมีส่วนร่วมทางศาสนาเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง (รูปที่ 4 และ รูปที่ 6 จาก [2])
3. ความกลัวนรก มีผลทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าความอยากขึ้นสวรรค์
4. ถ้าความเชื่อหรือศรัทธาในศาสนาสูง จะส่งผลทางบวกในการทำให้มีชีวิตยืนยาว แต่การไปวัดมากขึ้นโดยความเชื่อหรือศรัทธาคงที่ ส่งผลทางลบมากกว่าบวก (รูปที่ 7 และ รูปที่ 8 จาก [4])
ผลวิจัยนี้นำมาจากการสำรวจนานาชาติใน 59 ประเทศ จำนวน 6 ครั้ง ระหว่างปี 2524/1981 ถึง 2542/1999 ซึ่งสรุปผลเป็นกราฟได้ดัง Figure 4 ถึง Figure 7
จากผลวิจัยข้อ 2 แสดงว่า การไปโบสถ์บ่อยเกินไป อาจเป็นผลทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลด ผู้วิจัยอภิปรายว่า อาจเป็นเพราะคนต้องเสียเวลาและทรัพย์ให้แก่โบสถ์มากไป แต่ทางโบสถ์มิได้นำไปลงทุนในด้านเพิ่มผลผลิต
ข่าวจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2547/2004 [5] ได้กล่าวถึงความเห็นของศาสตราจารย์บาร์โร ซึ่งเคยเขียนไว้ในวารสาร American Sociological Review ว่า “เราเห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ศาสนามีผลต่อเศรษฐกิจก็คือ ศาสนาช่วยสร้างความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อลักษณะนิสัยของแต่ละบุคคล เช่น ความซื่อสัตย์ จรรยาบรรณในการทำงาน ความมัธยัสถ์หรือสมถะ และการเปิดเผยต่อคนแปลกหน้า” … “ตัวอย่างเช่น ความเชื่อในนรกสวรรค์ อาจมีผลต่อสันดานมนุษย์ โดยการสร้างความระวังตัวเรื่องการถูกลงโทษและได้รางวัล (หลังจากตายไปแล้ว) ที่สัมพันธ์กับการมีพฤติกรรมทาง ดี หรือ เลว ตลอดชีวิตของเขา”
ท่านให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กว่า 30 ปีแล้ว ที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการนับถือศาสนาคริสต์สูงมาก เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง พร้อมกับความศรัทธาในศาสนาที่มากขึ้น จะเห็นว่าในเกาหลีใต้ มีอัตราการเปลี่ยนศาสนาจากขงจื้อและศาสนาทางตะวันออกอื่นๆ มานับถือคริสต์สูงมาก
ศาสตราจารย์บาร์โร เปรียบเทียบให้เห็นว่า ประเทศที่มีระดับศรัทธาในศาสนาต่ำ เช่น จีน เกาหลีเหนือ และหลายประเทศแถบอัฟริกันซาฮารา(sub-Saharan African) รวมทั้งเยอรมันตะวันออก ต่างก็มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำเช่นกัน ซึ่งในกรณีของเยอรมันตะวันตกกับตะวันออกในยุคก่อนนั้น ทั้งๆ ที่เป็นคนเชื่อชาติเดียวกัน แค่ต่างระบบการเมืองกัน เราจะเห็นชัดเจนมากในเรื่องนี้ จนเยอรมันตะวันออกอยู่ไม่ได้ ระบบล่มสลายเช่นเดียวกับโซเวียตรัสเซีย
กรณีของจีน ดร. บาร์โร หมายถึงจีนยุคคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันจีนยอมให้มีเสรีภาพทางศาสนาในรัฐธรรมนูญแล้ว และเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นทำให้จีนเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วมาก พร้อมๆ กับรับเอาวัฒนธรรมเลวร้ายเข้าไปมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้ในปี 2550 นี้ว่า มีอดีตรัฐมนตรีจีนคนหนึ่ง เพิ่งถูกตัดสินประหารชีวิตเนื่องจากคอรัปชั่น
การที่ ดร. บาร์โร ยกตัวอย่างอัตราการเติบโตของการเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ของประเทศที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงนี้ ท่านมิได้หมายความว่าศาสนาคริสต์ดีกว่าศาสนาอื่น แต่การหันมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้จำนวนคนโดยเฉลี่ยไปโบสถ์มากขึ้นเมื่อเทียบกับศาสนาเก่าแก่ทางเอเซีย (ซึ่งเราทุกคนทราบกันดี) และเพิ่มศรัทธาความเชื่อในนรก สวรรค์ มากขึ้นด้วย จึงทำให้อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มหรือโดยนัยกลับกัน
เราคงต้องยอมรับว่า ศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่คริสต์และอิสลาม ไม่ได้บังคับให้คนต้องไปวัด นี่เป็นสิ่งที่ทำให้มีจำนวนคนนับถือศาสนาแต่ในนามมาก แต่ศรัทธาในศาสนาไม่แข็งแรงเหมือนคริสต์และอิสลาม หากคนพวกนี้เปลี่ยนไปถือคริสต์และอิสลามเมื่อไร ค่านิยมของเขาก็จะเปลี่ยนไป ทำให้พยายามไปโบสถ์มากขึ้น มีศรัทธาความเชื่อมากขึ้น ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นจุดอ่อนของศาสนาพุทธและอื่นๆ ในแถบเอเชีย
1.4. บทสรุป ผลจากการวิจัยทั้ง 4 ชิ้น
ถ้าเราสังเกตผลจากงานวิจัยทั้ง 4 ชิ้น โดยเฉพาะงานวิจัย [1] และ [2] แล้วนำมาดูความสัมพันธ์ต่อเนื่องที่ส่งผลกระทบต่อกัน เราอาจจะสรุปผลกระทบของการมีศาสนาประจำชาติต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ดังนี้
จากงานวิจัย [1] ซึ่งได้ผลสรุปออกมาว่า การมีศาสนาประจำชาติช่วยให้ประชาชนมีศรัทธาในศาสนาเพิ่มขึ้น ดังได้สรุปไว้ในหัวข้อ 1.2. ของเอกสารนี้ และผล การวิจัย[2] ที่สรุปไว้ในข้อ 1 ของหัวข้อ 1.3 ที่กล่าวมา มีว่า ศรัทธาในศาสนาสูงทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ทำให้เราสรุปได้ โดยใช้หลักแห่งความเป็นเหตุเป็นผลต่อกันว่า จากผลการวิจัยทั้งหมดของศาสตราจารย์โรเบิร์ต บาร์โร แสดงชัดเจนว่า การมีศาสนาประจำชาติ มีส่วนช่วยให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น
ตัวอย่างที่ชัดเจนคงเห็นได้จากเพื่อนบ้านของไทยขณะนี้ คือประเทศมาเลเซีย ซึ่งล้ำหน้าไทยไปในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากประกาศศาสนาอิสลามให้เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่มีคนนับถือมุสลิมเพียง 60% (จาก World Fact Book ขององค์การซีไอเอสหรัฐ บอกว่า มาเลเซียมี Muslim 60.4%, Buddhist 19.2%, Christian 9.1%, Hindu 6.3%, Confucianism, Taoism, other traditional Chinese religions 2.6%, other or unknown 1.5%, none 0.8% (2000 census) ดูของจริงได้ที่ https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/my.html)
กราฟจากผลวิจัยเรื่อง “Religion and Economic Growth” Barro, Robert J.,McCleary, Rachel M., April 2003 [2]
รูปที่ 5 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่อความเชื่อเรื่องนรก(ให้ผลบวก)
รูปที่ 7 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อความเชื่อเรื่องสวรรค์(ให้ผลบวก)
รูปที่ 4 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อจำนวนครั้งในการเข้าโบสถ์ต่อเดือนโดยรวมความเชื่อเรื่องนรก (ให้ผลลบ)
รูปที่ 6 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อจำนวนครั้งในการเข้าโบสถ์ต่อเดือนโดยรวมความเชื่อเรื่องสวรรค์(ให้ผลลบ)
กราฟจากผลงารวิจัยเรื่อง”Religion and Political Economy in an International Panel” โดย Barro, Robert J., McCleary, Rachel M., May 2002. [4]
รูปที่ 7 จำนวนครั้งในการเข้าโบสถ์ต่อเดือนที่มีผลต่ออายุโดยศรัทธาในศาสนาคงที่(ผลเป็นลบ)
รูปที่ 8 ศรัทธาในศาสนาที่มีผลต่ออายุโดยจำนวนครั้งในการเข้าโบสถ์ต่อเดือนคงที่(ให้ผลบวก)
เอกสารอ้างอิง
[1] “Which Countries Have State Religions?”
Barro, Robert J., McCleary, Rachel M., February 2005.
[2] “Religion and Economic Growth”
Barro, Robert J., McCleary, Rachel M., April 2003.
[3] “International Determinants of Religiosity”
Barro, Robert J., McCleary, Rachel M., November 2003.
[4] “Religion and Political Economy in an International Panel”
Barro, Robert J., McCleary, Rachel M., May 2002.
[5] “Research Around the World Links Religion to Economic Development” FELICIA R. LEE. The New York Times. Published: January 31, 2004
เอกสารจากงานวิจัยของ Professor Robert J. Barro ดาวโหลดได้ที่http://www.economics.harvard.edu/faculty/barro/workpapers.html
บทสัมภาษณ์ในนิวยอร์คไทม์ อยู่ที่ http://www.nytimes.com/2004/01/31/arts/31GOD.html?ei=5007&en=7ae3ae3816796866&ex=1390885200&partner=USERLAND%3Cbr+/%3E&pagewanted=all&position=
Rachel M. McCleary
Rachel M. McCleary is Director of the Religion, Political Economy, and Society Project at the Weatherhead Center for International Affairs, Harvard University. She is a Lecturer in the Government Department at Harvard, and Research Fellow of the Hoover Institution of Stanford University.
Dr. McCleary’s current research is the comparative analysis of organizational change and church-state relations among U.S. based private and voluntary organizations in international relief and development from 1939 to present. She continues to work on cross-country studies on religion, religious beliefs, and aspects of economic development with Robert J. Barro. Their joint publications include “Religion and Political Economy in an International Panel,” Journal for the Scientific Study of Religion; “Which Countries Have State Religions?” Quarterly Journal of Economics, November 2005; “Religion and Economy,” Journal of Economic Perspectives; “Religion and Economic Growth,” American Sociological Review Vol. 68 (October 2003)
(http://www.cceia.org/people/data/rachel_m__mccleary.html)