รู้จักชุมชนต้องเข้าถึงแก่นวัฒนธรรม

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 30, 2009 เวลา 13:50 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4825

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ที่ผ่านมาเป็นวันสำคัญของอีสานโบราณ และปัจจุบันบางส่วน ในหลายแห่งเรียก วันเปิดประตูเล้าข้าว ที่ดงหลวงก็เรียกเช่นนั้น แต่ก็มีเรียกวันตรุษโซ่ หรือเรียกตรงๆว่า วัน 3 ค่ำเดือน 3 เพราะเป็นวันนั้นจริงๆ ถือว่าเป็นวันดีครับ ถือว่านี่คือ ฮีต คอง ของสังคมอีสาน แม้ว่าหลายที่หลายแห่งจะไม่มีพิธีนี้แล้วแต่ที่ดงหลวงยังให้ความสำคัญวันนี้ ทุกหมู่บ้านจะหยุดการทำงานแล้วมาร่วมกันประกอบพิธีนี้กัน ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้หลายปี และเคยบันทึกไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/73723 หรือที่คุณ NU 11 บันทึกไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/wangplub2550/164259

ผมจะไม่ลงรายละเอียดเรื่อง พิธีกรรม หรือวัฒนธรรมของวันนี้แต่จะใช้มุมมองอีกมุมหนึ่งของการอ่านชุมชนผ่านประเพณีนี้

ที่บ้านพังแดง อันเป็นหมู่บ้านไทโซ่ที่เป็นที่ตั้งของโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และ เป็นหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของ สำนักงาน อบต. และเป็นหมู่บ้านที่กำนันอยู่ที่นี่ เราเองก็คลุกคลีกับหมู่บ้านนี้มากที่สุดเพราะเราเคยเช่าบ้านชาวบ้านและให้เจ้าหน้าที่ด้านการเกษตรเข้ามาพักอาศัยในหมู่บ้าน

เนื่องจากเป็นที่ตั้งโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และเราต้องสนับสนุนชาวบ้านให้มาใช้ประโยชน์แหล่งน้ำให้มากที่สุดตามเจตนารมณ์ในการก่อสร้าง เราจึงศึกษาลงลึกในชุมชนเป็นรายกลุ่มย่อยของหมู่บ้าน รายสายเจ้าโคตร และรายครัวเรือน

เราทำ village profile ในรูปของแผนที่ที่ตั้งครัวเรือนทุกครัวเรือนในหมู่บ้านนี้ ใส่ชื่อลงไป ใส่สีที่แสดงบทบาทแต่ละคน ใส่สัญลักษณ์ต่างๆเพื่อแสดงข้อมูลต่างๆที่เราเก็บมาได้เพื่อศึกษาเข้าใจเขา…แน่นอนเราต้องใช้เวลาจำนวนมากในการค่อยๆคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้นำชุมชน เยาวชน สตรี ครู อสม. อบต. ฯลฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลต่างๆ ทั้งที่ขัดแย้งกันบ้าง สนับสนุนกันบ้าง แต่ในที่สุดก็มีข้อสรุปเมื่อเราทำ cross check

เมื่อวันที่ 28 ซึ่งเป็นวันพิธีกรรมดังกล่าว ผมให้น้องๆเข้าไปร่วมงานของชาวบ้านและให้ศึกษารายละเอียดแล้วมาคุยกันซิว่าได้อะไรมาบ้าง

หลังจากที่น้องเล่าให้ฟังมากมายแล้ว ก็มาถึงประเด็นที่ว่า พิธีกรรมของชาวบ้านในวันสำคัญนี้คือ จะทำ กันหลอน ขึ้น แล้วแห่ไปตามครัวเรือนต่างๆ เพื่อให้เจ้าของบ้านนั้น ร่วมทำบุญ และต่างก็กินเหล้าเมายากันอย่างสนุกสนาน รายได้ทั้งหมดเอาไปเป็นกองทุนพัฒนาหมู่บ้านนั่นเอง

น้องบอกว่า ที่บ้านพังแดงมีกันหลอน 3 กันหลอน เมื่อผมได้ยินก็บอกดักคอน้องๆว่า พี่จะบอกว่า กันหลอนหนึ่งอยู่กลุ่มบ้านทางทิศตะวันออกใช่ไหม อีกกันหลอนหนึ่งอยู่ทางด้านใต้ถนนใช่ไหม และอีกกันหลอนอยู่กลุ่มบ้านเหนือถนนใช่ไหม

น้องบอกว่าใช่เลย แล้วถามกลับว่า อ้าว พี่ไม่ได้ไปทำไมรู้ล่ะ…. ผมตอบว่า สามารถเดาได้เพราะมีข้อมูลชุดอื่นๆอยู่ในคลัง และการมีกันหลอนออกมา เป็น 3 แห่งเช่นนี้ เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงสมมติฐานที่มีอยู่ก่อนแล้ว

การที่เราเข้ามาร่วมประเพณีเช่นนี้และประเพณีอื่นๆของชุมชนนั้น เราสามารถสังเกตพฤติกรรมและรายละเอียดของประเพณีเหล่านี้ แล้วเราก็จะเรียนรู้และเข้าใจคน และชุมชนมากขึ้น

ผมขอไม่อธิบายโดยละเอียด แต่ขอสรุปเอาว่า แม้ว่าบ้านนี้จะนามสกุลเดียวกันทั้งหมดคือ เชื้อคำฮด แต่มีลักษณะสำคัญหลายประการในการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดมีการแบ่งกลุ่มย่อยในกลุ่มใหญ่ แต่ไม่ได้ขัดแย้งกันจนไม่สามารถอยู่ด้วยกันไม่ได้ อยู่ร่วมกันได้ เพราะยังใช้ศาลเจ้าปู่ตาเดียวกัน กินน้ำบ่อเดียวกัน

แต่ลักษณะรายละเอียดบางเรื่องบางประการ แบ่งกันอยู่

หากเป็นคนสนใจด้านลึกของชุมชนนี้ก็จะเห็นลักษณะการแบ่งอีกอย่างคือ บ้านนี้มี 2 วัด คนทำงานพัฒนาเมื่อรู้ว่าบ้านไหนมีสองวัดก็ต้องตั้งคำถามในใจแล้วว่า ทำไม แล้วรีบหาคำตอบ แล้วรีบหากลุ่มคนทันทีว่า คนกลุ่มไหนขึ้นกับวัดไหน

การแบ่งแยกในทางลึกเช่นนี้ย่อมมีที่มาที่ไป และจะมีผลสะท้อนต่อการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของส่วนร่วมบ้าง มากน้อยแตกต่างกันไป ในฐานะคนทำงานผมคิดว่าหากเราหวังผลสำเร็จในงานมิใช่แค่ฉาบฉวยเข้าไปกำกิจกรรมแล้วก็ออกมา เราก็ได้แค่รายงานว่าทำกิจกรรมนั้นๆเสร็จสิ้นแล้ว แต่เราไม่ได้คน ไม่ได้ใจ ไม่ได้การสร้างสรรค์ด้านลึก

ภาพด้านลึกของชุมชนเช่นตัวอย่างนี้มีผลโดยตรงกับกิจกรรมที่มีผลประโยชน์ เราอาจจะใช้ความรู้ทางวิชาการเข้ามาเสริมได้อีกมากมายเช่น ทำ Sociogram เราก็จะทราบความสัมพันธ์ภายในชุมชนเพิ่มเติม แล้วเอาทั้งหมดมาประมวล วิเคราะห์ เราก็จะเข้าใจภาพรวมและภาพย่อยทั้งหมดของชุมชนมากขึ้น การทำงานของเราต่อบุคคลในชุมชนก็จะทำแบบเข้าใจมากขึ้น….

ทั้งหมดหยาบๆนี้คือการเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ประเพณีชุมชน จะทำให้เราสังเกตเห็นความจริงในชุมชนนั้นมากขึ้นกว่าการไปทำความรู้จักอย่างเป็นทางการ หรือเพียงการอ่านเอกสาร ซึ่งไม่เพียงพอ..

โห…ทำอะไรกันเยอะแยะมากมาย

ที่ทำก็เพราะว่าเราเป็นคนนอก  ไม่ใช่คนในน่ะซีครับ

ผมเริ่มทำลานบินให้พ่อใหญ่บำรุง บุญปัญญา ขึ้นธรรมาสน์ที่สวนป่า ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ครับ อิอิ


วัฒนธรรมการบริโภค กับการผลิตพืชเศรษฐกิจ (1)

อ่าน: 2715

เรื่องกินเรื่องอยู่นั้นไม่น่าจะเป็นเรื่อง แต่ก็เป็นเรื่อง โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการกินการอยู่ และการดำรงชีวิต

หลายปีก่อนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทย์ศาสตร์ร่วมกับคณะนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา ทำการศึกษาสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับของคนอีสาน ค้นพบว่าเพราะวัฒนธรรมการบริโภคของคนอีสานนั้น กินดิบจึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมาก อาหารที่ชาวอีสานกินดิบนั้นสารพัดอย่าง รวมไปถึง หอยน้ำจืด ซึ่งทางชีววิทยาพบว่า หอยนั้นเป็น Host ของพยาธิชนิดหนึ่งในวงจรชีวิตเขา เมื่อคนอีสานกินดิบ โอกาสที่พยาธิจะเข้าไปในร่างกายก็เกิดขึ้นได้ และพยาธิชนิดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับ

แม้แต่ท่านอาจารย์ที่รักเคารพของผมท่านหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าภาพวิชาโภชนาการ มข. ก็เสียชีวิตเพราะมะเร็งตับ ซึ่งท่านก็บอกว่า ก็กินมาตั้งแต่เด็กๆ มาเข้าใจเอาตอนโต เรียนหนังสือแล้ว แต่พยาธิมันเข้าไปอาศัยในร่างกายนานแล้ว และมาแสดงผลเอาตอนอายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว…. นี่คือเรื่องวัฒนธรรมการกินอย่างหนึ่ง…

คนใต้ ไปอยู่ไหนๆก็ต้องมองหาร้านอาหารปักษ์ใต้ ก็แกงเหลือง แกงไตปลา ขนมจีนแบบปักษ์ใต้ คั่วกลิ้ง ฯลฯ…..มันหร้อยจังฮู้.. ที่บ้านก็ต้องหามากินบ่อยๆหากคุณเธอไม่มีเวลาทำเอง…

ผมเองก็ติดน้ำพริก ผักสดหรือผักลวกก็ตาม สารพัดชนิดชอบมั๊กมั๊ก…. สมัยก่อนหากกลับบ้านก็ต้องให้แม่หรือน้องสาวทำปลาร้าทรงเครื่อง ที่มีผักพื้นบ้านเต็มถาด จะเป็นมื้อที่อร่อยที่สุดในโลกนี่เป็นวัฒนธรรมบริโภคของคนประจำภาค ประจำถิ่น …เพราะติดในรส ที่ถูกฝึกมาทั้งชีวิตตั้งแต่เด็กๆ

ผมมาอยู่ดงหลวงถิ่นชนเผ่า ไทโซ่ มีที่ตั้งชุมชนติดภูเขา ที่เรียกว่ามีระบบภูมินิเวศแบบเชิงเขา ชาวบ้านก็จะมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงป่าสูงมาก กล่าวกันว่า ทุกคนทั้งหญิงและชายจะต้องขึ้นป่า ด้วยจิตวิญญาณ..

ดังนั้น ผมเคยขึ้นป่ากับชาวบ้าน พบว่าชาวบ้านเตรียมแต่ข้าวเหนียวไปเอามีดไปและเครื่องครัว อาหารการกินไปหาเอาข้างหน้า เช่นลงไปในลำห้วยก็ได้เขียด ได้หอยป่า ได้ปูภูเขา อาจจะได้ปลามา หากโชคดีก็ได้สัตว์ป่า ซึ่งเหลือน้อยเต็มทีแล้ว แล้วก็มาทำกินกันแบบลูกทุ่ง เอาใบไม้มารองอาหาร การหุงข้าวหากไม่ได้เอาหม้อไป หรือเอาหม้อที่ซ่อนไว้ในป่า ก็ไปตัดไม้ไผ่ปล้องใหญ่ๆมาผ่าครึ่งแล้วก็หุงข้าวในนั้น

นรินทร์ เยาวชนรุ่นใหญ่ดงหลวงคนหนึ่งบอกว่า อาจารย์…เวลาเข้าป่าเขาหุงข้าวด้วยปล้องไม้ไผ่ ข้าวหอมมากๆ น่ากิน ช้อนก็ไม่จำเป็นต้องเอาติดตัวไปก็ได้ ใช้มือเรานี่แหละ หากวันนั้นมีต้มมีแกงก็ไปหาใบไม้สารพัดชนิดที่ใกล้ตัว เด็ดมาห่อทำเป็นช้อนตักน้ำแกงซดกิน ใบไม้บางชนิดเมื่อโดนความร้อนมันก็หอม อร่อย… และที่สำคัญ เราก็ติดใจในรสอาหาร และธรรมชาติของป่านั้น…

ไม่ว่าวัยรุ่นวัยเฒ่าแค่ไหนวิถีชีวิตก็ขึ้นป่า…หากินกันแบบนั้น.. ผมเคยตั้งคำถามนรินทร์ เยาวชนรุ่นใหญ่ดงหลวงว่า

..บ่อยครั้งแค่ไหนที่เข้าป่า นรินทร์ตอบว่า “อย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละหนึ่งครั้งโดยเฉลี่ย เพราะไปหาอาหารป่า หรือก็ขอให้ได้เข้าป่า แม้จะไม่ได้อะไรติดมือมาเลยก็ตาม….

ไปคนเดียวผมก็ยังไปเลย แรกๆก็กลัวๆกล้าๆ นานไปกลับสนุก กลางคืนก็ไปคนเดียว นอนกลางป่าเลย… (ต่อตอน 2)


ผีพาย

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 21, 2009 เวลา 13:03 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 3146

ผมไม่ได้หันมาเขียนเรื่องผีผีนะครับ มันเป็นอย่างไร..ตามไปดูนะครับ..

ผมเคยบันทึกเรื่องรถพุ่มพวงไว้บ้างแล้ว รถพุ่มพวงคือชาวบ้านที่เอารถมอเตอร์ไซด์มาดัดแปลงเบาะด้านหลังเป็นที่ใส่สินค้าของกินต่างๆมากมายจนเต็มหรือล้น แล้วก็วิ่งไปขายในหมู่บ้าน ตั้งแต่เช้ามืดจนค่ำ หรือจนกว่าสินค้าจะหมด หรือสินค้าน้อยลงแล้วก็กลับบ้านตัวเอง เพื่อพักผ่อนแล้วเริ่มกิจกรรมนี้ในวันใหม่ ส่วนมากจะเริ่มกันตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เพราะไปเอาสินค้าจากตลาดในตัวเมือง… อาชีพนี้เราเรียกพ่อค้าขายปลีกแบบเข้าถึงบันไดบ้านเลย รถที่ใช้นี้เรียกรถพุ่มพวง ใครเป็นคนเริ่มเรียก ก็ไม่ทราบ..

ในทำนองเดียวกันผมได้พบอีกอาชีพหนึ่ง ที่เด็กหนุ่มๆรักดีเอามอเตอร์ไซด์มาดัดแปลงเบาะด้านหลังแล้วเอามาใส่สินค้าลงกล่องใหญ่ แล้วก็เร่ขายไปตามหมู่บ้านต่างๆ แต่สินค้านี้ไม่ใช่อาหารแต่เป็นของใช้…สารพัดชนิดที่ครอบครัวจำเป็นต้องใช้(รวมของตกแต่งร่างกายบางอย่างด้วย)

เด็กหนุ่มช่างพูด รับผิดชอบ ทำอาชีพสุจริต ท่องเที่ยวไป ..อิสระ..

ที่ดงหลวงเมื่อวานนี้ ผมเชิญเด็กหนุ่มคนนี้มาคุยด้วยเขาชื่อ ลิขิต อุยซา อยู่บ้านกุดตาไก้ อำเภอปลาปาก นครพนม อายุ 28 ปี เรียนจบ ป.6 มีครอบครัวแล้ว…..ทำอาชีพนี้มา 4 ปีแล้ว

ทำไมมาทำอาชีพนี้: แต่ก่อนผมไม่มีอะไรทำก็ไปเป็นลูกจ้างเถ้าแก่ ซึ่งเขาก็ทำอาชีพแบบนี้ แต่เขาใช้รถปิคอัพ แล้วหาลูกจ้างหลายๆคนนั่งรถไปปล่อยตามหมู่บ้านต่างๆ บ้านคน แบกกล่องสินค้าพวกนี้เดินขาย กล่องเล็กกว่านี้ เย็นๆเถ้าแก่ก็วนรถมารับกลับที่พัก แล้ววันรุ่งขึ้นก็ไปบ้านอื่นต่อไป ทำอยู่หกปี เฒ่าแก่ขึ้น เงินปีให้ จากปีแรกๆ ได้ 20,000 บาท เป็น 30,000, 40,000, หลังสุดเถ้าแก่ให้ผม 60,000 บาท ผมเห็นว่าทำไมเราไม่ทำเอง ลงทุนเอง เลยออกมาลงทุนเอง..

เิปิดกล่องเสนอขายสินค้า

มีเพื่อนในหมู่บ้านทำกันไหม: ทำครับ เมื่อเขาเห็นอย่าง เด็กหนุ่มๆก็หันมาเอาอย่าง ออกมอเตอร์ไซด์แล้วไปซื้อสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันในครัวเรือนจากร้านขายส่งตามชายแดน ริมน้ำโขง ไม่ว่า มุกดาหาร นครพนม หนองคาย เลย มีตลอด แล้วก็หาเส้นทางที่จะไปขายกัน..

มีทุกอย่างที่ครอบครัวมีความจำเป็นต้องใช้

มีจำนวนมากแค่ไหน: มีประมาณ 20 คนไปขายที่จังหวัดสระแก้ว 20 คนไปขายที่จังหวัดกำแพงเพชร และไปขายจังหวัดค่างๆทางภาคเหนือประมาณ 30 คน

น้องเคยไปขายถึงที่ไหนบ้าง: ผมชอบตระเวนไปทั่ว ตะวันออกไปถึงจันทรบุรี ภาคใต้ไปถึง นาสาร สุราษฏธานี ภาคเหนือไปถึง เชียงราย


กล่องซ้ายมือตามรูปนี้คือเสื้อผ้าที่ใช้แล้วเตรียมซัก ถุงตรงกลางคือมุ้ง ขวามือคือเสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ใช้

น้องกินนอนกันอย่างไร: ไปกันอย่างนี้กินนอนตามศาลาวัดต่างๆที่ผ่านครับ (ผมนึกถึงศาลาวัดที่เพิ่งบันทึกไปเมื่อสองสามวันก่อน) ผมเตรียมเสื้อผ้า มุ้งมาพร้อมที่กล่องท้ายรถมอเตอร์ไซด์นั่น…


แพ็กกิ้ง เพื่อเดินทางไปต่อ

แล้วเงินที่ขายได้เก็บอย่างไร: ไม่เก็บครับ ทุกวันเมื่อขายได้ ตอนบ่ายๆ เย็นๆ ก็หาทางโอนเงินเข้าบัญชีที่บ้านครับ เก็บติดตัวนิดหน่อยพอใช้

ขายตลอดปีเลยหรือ: จะกลับบ้านช่วงสงกรานต์ และช่วงทำนาครับ

สินค้ามีกี่อย่าง แล้วมีรายการราคาสินค้าไหม: ผมจำเอา ไม่ได้จด ทุกอย่างอยู่ในหัว สินค้าในกล่องนี้มี 30 กว่าชนิด(ผมดูแล้วน่าจะมากกว่า) ราคาผมจำได้หมด

ไปเอากล่องมาจากไหน: เป็นกล่องกระดาษอย่างหนาใส่เครื่องมือเกษตรยี่ห้อ คูโบต้า ไปขอซื้อจากร้านเขามา

เพื่อนร่วมอาชีพของลิขิต มาจากหมู่บ้านเดียวกัน คนนี้จะมีผ้านวมขายด้วย

ฤดูฝนไม่เปียกและกล่องไม่เสียหายหมดหรือ: ด้านนอกกล่องเอาเทปพลาสติกบางๆขนาดกว้างๆมาติดรอบทั้งด้านนอกกล่องหมด มันกันฝนได้ น้ำตกลงมามันก็ไม่จับไหลออกไปหมด..??

กล่องกระดาษใส่สินค้าที่กันฝนได้แบบชาวบ้าน

ผมแอบชื่นชมเด็กกลุ่มนี้ที่แทนที่จะเอาเวลาไปเที่ยวเล่น ติดยา ติดเกมส์ ไร้สาระ ก็มาออกมอเตอร์ไซด์แล้วทำอาชีพที่สุจริต ดูเขาภูมิใจมาก ความเป็นเด็กหนุ่มที่ชอบการเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ แปลกหูแปลกตา และได้เงินด้วย มันเป็นอาชีพที่เข้าถึงผู้บริโภค จึงได้รับการตอบรับที่ดี

ผมถามว่าได้รายได้เท่าไหร่ เขาไม่ตอบ แต่ว่า มากกว่าที่เถ้าแก่เคยให้เขาเป็นสองเท่าสามเท่า…???


เดินทางไปต่อตามวิถี..

คำถามสุดท้ายก่อนที่ ลิขิต จะขอตัวเดินทางต่อไปคือ

ชาวบ้านเขาเรียกรถแบบนี้ว่าอะไร: บางทีก็เรียก ผีพาย

ผมฟังตั้งนานว่าอะไรแน่นะเพราะแปลกและไม่คุ้นหูและไม่เชื่อว่าทำไมไปเกี่ยวข้องกับผี…

ตอนแรกๆผมคิดว่า ผีพรายชาวบ้านที่ร่วมสนทนาด้วยบอกว่า ผีพายครับ พายนั้นย่อมาจาก สะพาย คืออาการคล้ายแบก หาม น่ะครับ เพราะสมัยก่อนตามหมู่บ้านชนบท ก็มีอาชีพคนเดินสะพายผ้าขาย อยู่ๆก็โผล่มาในหมู่บ้าน และอยู่ๆก็หายไปจากหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียกคนกลุ่มนี้ อาชีพนี้ว่า ผี เอาไปรวมกับสะพาย เป็น ผีพาย

เออ..ผมตกงานเมื่อไหร่ อาจจะไปยึดอาชีพเป็นผีพายก็ได้นะ

จะตระเวนไปขายน้ำใจ ขายความรัก ขายสันติ ให้พี่น้องตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ กำแพงเพชร ลำพูน พิดโลก ยันกระบี่ ปัตตานีเลย ขายได้เท่าไหร่จะโอนส่งไปเก็บไว้ที่พ่อครูบา ทุกสัปดาห์เลย อิอิ.. วันเมื่อขายได้ ตอนบ่ายๆ เย็นๆ ก็หาทางโอนเงินเข้าบัอผ้า มุ้งมาพร้อมที่กล่องท้ายรถมอเตอร์ไซด์นั่น…

ในครัวเรือนจาก


ห้าบาท

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 17, 2009 เวลา 19:44 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1749

สมัยเด็กๆนั้นเงินหนึ่งบาทมีค่ามาก เหรียญบาทที่ตรงกลางเป็นรู หายไปตั้งเมื่อไหร่ไม่รู้ตัวเลย แต่นานมากแล้ว รู้ตัวอีกทีมีแต่เหรียญห้าบาทเต็มกระเป๋า

เคยได้ยินมาว่าการที่เหรียญบาทหายไปในท้องตลาด ทำให้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการซื้อขายและการบริการในตลาดมากทีเดียว รถเมล์จะขึ้นราคาทีก็ขึ้น 5 บาทไม่ขึ้น 50 สตางค์ หรือ 1 บาท 2 บาท พรวดทีเดียว 5 บาท ประชาชนก็แบกภาระหนัก อันนี้ผมคิดเอาเองนะครับ ท่านที่เป็นพ่อค้า แม่ค้าก็คงมีเหตุผลมากมายมาอธิบายโต้แย้งความคิดผม เช่น ก็น้ำมันมันขึ้นราคาทุกวัน สินค้านานๆขึ้นทีก็ขึ้นซะทีเดียวไปเลย อย่างนี้แม่ค้าก็อธิบายได้

ผมเองมักเป็นเด็กหิ้วตะกร้าไปจ่ายตลาดสดให้คนข้างกายบ่อยๆ ชอบไปด้วยเพราะตลาดเป็นตัวชี้วัดหลายๆอย่างของสังคม เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารการกินตามฤดูกาล เป็นตัวบ่งบอกว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลอะไร ผักหวานป่าออก ก็หมายถึงเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว เป็นต้น ตลาดบ่งบอกสภาวะเศรษฐกิจในสังคม ประเทศ สินค้าที่เราซื้อหามาทุกวันทุกวันนั้นราคามันเปลี่ยนแปลงเสมอ คุณภาพสินค้า ขนาด ปริมาณสินค้า แหล่งที่มาของสินค้า ล้วนบอกอะไรเรามากมาย

อยู่ขอนแก่น แต่กินส้มเชียงราย กินผักเพชรบูรณ์ กินมะละกอดำเนินสะดวก กินผักดองเชียงใหม่ อยู่มุกดาหาร กินอาหารป่าจากฝั่งลาว กินผักจากสกลนคร กินพริกจากหัวเรืออะไรทำนองนี้… ไปเที่ยวแม่สอดจังหวัดตากกินแอปเปิ้ลที่มาจากแม่สาย เชียงราย

สมัยเรียน มช. ที่ข้างตึกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ใกล้หอพักชายอาคารหนึ่ง มีชาวบ้านมาขายข้าวราดแกงจานละ 1 บาท (พ.ศ. 2512-2515) ซึ่งสมัยนั้น ทั่วไปก็ห้าบาทหรือสิบบาท (ในมหาวิทยาลัยจะขายถูกกว่าข้างนอกอยู่แล้ว) นักศึกษาแต่ละคนกินมากกว่า 1 จานแน่นอน อาหารราคาถูกทำให้นักศึกษาคนจนๆก็มีแหล่งฝากท้อง พออิ่มได้

บันทึกวันนี้ที่พูดเรื่อง 5 บาท ก็เพราะไปจ่ายตลาดทุกวันนี้อะไรอะไรก็ 5 บาท แม่ค้าจะมัดผักเกือบทุกชนิดขายมัดละ 5 บาท ผักดองถุงละห้าบาท น้ำพริกสารพัดชนิดถุงละ 5 บาท ผักลวกจิ้มน้ำพริก 5 บาท พริกกองละ 5 บาท เหรียญ 5 บาทเป็นพระเอกไปเลย ไปตลาดต้องเตรียมเหรียญ 5 บาทไปเยอะๆ

การขายสินค้าที่กำหนดโดยแนวคิดเช่นนี้จะว่าดีก็ดี เพราะสะดวก ง่าย แต่จะว่าไม่ดีก็ได้ เพราะสินค้าบางอย่างเราไม่ต้องการจำนวนมากถึง 5 บาท แค่ต้องการเพียง 2 หรือ 3 บาท เขาก็ไม่ขาย ต้อง 5 บาท อันนี้ไม่ดี ส่วนเกินบางอย่างก็เก็บไว้ได้ แต่บางอย่างก็ไม่ได้ เสียหายไปเปล่าๆ

อย่างที่มุกดาหารอาหารค่ำของผมก็ไปที่ตลาดราตรี มีอาหารมื้อนี้มากมายมาวางขาย ผมเองเป็นเจ้าประจำน้ำพริกหนุ่ม ผักลวกและข้าวเหนียว หลายปีก่อนนั้นผมซื้อข้าวเหนียว 5 บาทก็พอดีท้อง มาปีสองปีนี้ 5 บาทไม่พอกินต้องเพิ่ม แต่แม่ค้าจะขาย 10 บาท ซึ่งก็มากเกินพอดี หากจะพอดีควรจะเป็น สัก 7 บาท ข้าวส่วนเกินประมาณ 3 บาทนั้นผมต้องทิ้งไปทุกวัน คิดจะเก็บเอาไว้ให้เจ้าคุ้กกี้หมาที่รักที่บ้านขอนแก่น ซึ่งเขาชอบข้าวเหนียวมากก็เก็บหลายวันไม่ได้ ในที่สุดก็ทิ้งไปโดยเสียดายที่สุด

นี่คือเรื่องของการซื้อขายในปัจจุบันที่เอาหลักการ 5 บาทเป็นตัวตั้ง เอาแม่ค้าเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง ผมว่าน่าจะเกิดส่วนเสียหายมากเหมือนกันนะครับ หากนับรวมกันทั่วประเทศต่อมื้อต่อวันน่าจะมหาศาลนะครับ..

หรือว่าผมคิดมากไปเอง อิอิ..


แด่คุณครูด้วยดวงใจ

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 16, 2009 เวลา 11:16 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2323

คุณพ่อผมเป็นครู

อาผมหลายคนเป็นครู

พี่สาวผมก็เคยเป็นครู

ภรรยาผมก็เป็นครู(มหาวิทยาลัย)

ผมเองก็เรียนครู และเป็นครู(พัฒนาชนบท)

ผมจึงใกล้ชิดครูพอสมควร

ผมเองเคยกราบพี่พี่ที่ โครงการบูรณชนบทแห่งประเทศไทย เพราะผมไปฝึกงานที่นั่นเมื่อเริ่มก้าวเข้ามาสู่วงการพัฒนาชนบท ผมก็เรียกพี่พี่เหล่านั้นที่สั่งสอนผมว่าเป็นครู ที่ใกล้ชิดปัจจุบันก็มี ครูเปี๊ยก หรือพี่เปี๊ยกนี่แหละ(ที่จะมาสวนป่าปลายเดือน)

ครูสมัยคุณพ่อผมนั้นมือขวาถือชอล์ค มือซ้ายถือไม้เรียว ตีกันก้นลายเลย โรงเรียนวัด วิ่งเล่นกันรอบโบสถ์ วิหาร ทุกวันพระก็นิมนต์ท่านเจ้าอาวาสมาเทศนาเด็กๆ สวดมนต์กันดังลั่นไปสามคุ้งบ้าน เมื่อพระเดินสวนทางมาเราต้องนั่งลงไหว้พระให้ท่านเดินผ่านไปก่อน เด็กหญิงต้องหลีกห่างออกไปพอสมควร…

ครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ชาวบ้านร้านถิ่น ให้ความเคารพนับถือ เมื่อใดที่ครูคนใดคนหนึ่งเสียชีวิต งานศพครูจะมีคนมากที่สุด เพราะลูกศิษย์ลูกหา กี่รุ่นต่อกี่รุ่นต่างพากันมากราบไหว้เป็นครั้งสุดท้าย

Trend ของการส่งเด็กเรียนต่อในสมัยนั้นก็หนีไม่พ้น รับราชการ การที่จะมีใครเรียนต่ออุดมศึกษานั้นน้อยรายจริงๆ เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกมั่นคง เรียนเร็ว ทำงานเร็ว มีเงินเดือนกิน..ใช้ได้แล้ว…

ลูกครูอย่างผมนั้นถูกอบรมอย่างหนักในเรื่องการดำรงชีวิตต่างๆ กิริยามารยาทต่อสังคมต่อผู้ใหญ่ หรือในชีวิตประจำวันละเอียดรอบคอบ คุณพ่อจะสอนไปตีไป อิอิ.. แม้จะไม่ค่อยสืบสานทุกกระเบียดนิ้ว แต่ก็ซาบซึ้งคุณค่าในประเพณีวัฒนธรรมแบบไทยๆมาจนทุกวันนี้ เขาไม่ได้สอนวิชาการเท่านั้น แต่สอนเรื่องประเพณี วัฒนธรรมเชิงปฏิบัติด้วย

ครูสมัยนั้นต้องทำนาทำสวนกันทั้งนั้น พ่อต้องไปช่วยแม่ทำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว ฯลฯ ผมจำได้ดีว่าเรื่องการนวดข้าวของภาคกลางที่เอาฟ่อนข้าวออกมาตั้งโดยเอารวงข้าวขึ้นชี้ฟ้า กองเรียงกันเป็นวงกลม แล้วเอาควาย 4-5 ตัวมาผูกเข้าด้วยกันให้เป็นหน้ากระดานเรียงแล้วเรายืนข้างหลังไล่ควายเดินย่ำขึ้นไปบนกองข้าวนั้น วนไป วนไป ซึ่งพ่อจะสอนวิชาเรขาคณิตไปด้วยว่า การเดินวนนั้นจะต้องวนเป็นวงเล็กในวงใหญ่ เพื่อให้ข้าวทุกรวงโดนตีนควายเหยียบทั่วถึงกันหมด สอนการทำคันนา การไถนาไถอย่างไรจึงจะทำให้ดินร่วนแตกทั่วถึงกันหมด ไม่ใช่ไถเพื่อให้จบๆไป สอนเรื่องการหว่านข้าว หว่านอย่างไรไม่ให้ข้าวกองเป็นกระจุก ให้กระจายไปทั่วๆ เกี่ยวข้าวอย่างไรมิให้หักคอรวงและปลอดภัยมิให้เคียวมาเกี่ยวเอานิ้วตัวเองเข้า… เทคนิคการตวงข้าวเพื่อขายทำอย่างไรให้ได้ปริมาณมาก วิธีการปาดข้าวและเสียบติ้ว…ฯลฯ

บังเอิญว่าคุณพ่อเป็นครูด้วย การทำหน้าที่พ่อและครูจึงอยู่ในตัวคนคนเดียวตลอดเวลา แต่นั่นคือวิถีชีวิตสมัยก่อน  ที่สาระใหญ่คือการเพิ่มทักษะในการดำรงชีวิตให้แก่เด็กที่กำลังเติบโต…

ขอกราบคารวะคุณพ่อ ผู้เป็นทั้งครูและพ่อที่สร้างและอบรมสั่งสอนให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา

ขอกราบคารวะครูทุกท่านที่ปั้นคนให้เป็นคน


ความไม่รู้คือเหยื่อ..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 15, 2009 เวลา 20:34 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2290

ปกติที่บ้านใช้ Internet ผ่าน wireless ระบบ adsl ของ TOT โดยใช้เครื่องส่งสัญญาณของ TP–Link ตั้งไว้ที่ห้องทำงาน ชั้นสองเป็นห้องนอนและห้องทำงานในตัวของคนข้างกายก็ใช้สัญญาณได้ดี ใช้อยู่สักสามปีก็เริ่มเกิดปัญหา คือสัญญาณหลุดบ่อย จนรำคาญ เรียกช่าง TOT มาซ่อมก็ว่าสายโทรศัพท์ไม่ดีต้องเปลี่ยนใหม่ เอ้า ผมก็อุตสาห์ไปซื้อมาเปลี่ยนเองเอาอย่างดีที่สุดเลย แต่ก็ไม่ดีขึ้น ช่างอีกคนมาก็ว่าเครื่องส่งสัญญาณไม่ดี…..

ผมจึงไปที่สำนักงาน TOT ใกล้ศาลากลางคุยไปคุยมาเขาก็บอกความจริงมาว่า มีคนใช้มากจนทำให้สัญญาณอ่อนลง และที่พักของผมก็อยู่ปลายสายยิ่งทำให้การรับสัญญาณยิ่งอ่อนลงมากๆ… ผมนึกในใจว่า เวรเอ้ย…ช่างทำไมไม่พูดความจริงนี้ตั้งแต่แรก…

ผมจึงตัดสินใจยกเลิกการใช้สัญญาณ Internet ของ TOT ไป ความจริงทราบจากข่าวว่า TOT ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายนับหมื่นล้านบาท นึกในใจว่าสาเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้การบริการและประสิทธิภาพของระบบไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควรจะเป็น… แต่ผมก็ยกเลิก หันไปใช้ Internet ผ่านมือถือ ซึ่งก็ใช้ได้ดี สะดวก ไปไหนๆก็ได้ที่มีสัญญาณ ลูกสาวอยากได้ก็เลยหามาให้อีกชุดหนึ่ง ที่บ้านเลยมีสามชุด คนละชุด..

ต่อมาลูกสาวบอกว่าอยากใช้ wireless ที่บ้านมากกว่า ติดตั้งที่เดียวใช้กันทั้งสามคนคนละห้องประหยัดด้วย เลยไปปรึกษา TOT อีกครั้งก็ทราบว่าได้ติดตั้งตัวขยายสัญญาณในบริเวณใกล้บ้านพักแล้ว ผมจึงซื้อบริการ Internet ระบบ adsl และจะใช้ wireless อีกครั้งหนึ่ง เมื่อซื้อ adsl ของ TOT ช่วงนี้เขาแถมโมเดมมาให้ตัวหนึ่ง….

กว่าช่างจะมาก็กินเวลาไปสามวันเพราะเขาว่าลูกค้าเข้าคิวติดตั้งหลายราย มาถึงก็ติดตั้งพร้อมเอาโมเดมตัวใหม่ ปรากฏว่าใครจะใช้ต้องต่อสายเชื่อมเข้าคอมฯเอา และมีเพียงช่องเดียวเท่านั้น อ้าว…งี้ก็ไม่ใช่ wireless น่ะซี ช่างบอกว่าไม่ใช่ครับ หากอยากได้ก็ต้องไปซื้อ ตัวเชื่อมต่อมาเชื่อมกับโมเดมนี้อีกที…???

ผมถามว่างั้นเอาเครื่องเก่าของผมที่เลิกใช้ไปมาติดตั้งได้ไหม เขาว่าได้ ก็ติดตั้งทันที แต่ช่างทำอย่างไรก็ไม่สามารถใช้ได้ ลองแล้วลองอีก set โน่นนี่ ก็ไม่ได้ซักกะที จนอ่อนใจเลยติดตั้งโมเดมแบบใช้สายไปก่อน ผมก็เลยมอบเครื่องส่งสัญญาณนั้นให้เขาไปลองใช้เวลาว่างตรวจสอบดูว่าจะแก้ไข หรือติดตั้งอย่างไรจึงใช้ได้

ช่างหายไปสองวัน ผมเลยโทรตามว่าเป็นไง เขาบอกว่าลองถึงที่สุดแล้วใช้ไม่ได้ ให้เพื่อนที่ว่าเก่งๆลองก็ไม่ได้ ช่างว่ามันคงเสีย….อ้าว…

งั้นต้องซื้อเจ้าตัวเชื่อมต่อโมเดมแล้วเป็น wireless มาน่ะซี ช่างก็ว่าใช่ แต่ตอนนี้ไม่มีเวลางานยุ่งมาก ให้ไปซื้อมาก่อนแล้วจะมาติดตั้งตอนสองทุ่ม…วันนี้… ผมต่อลองว่าจะไปซื้อเดี๋ยวนี้แล้วบ่ายแก่ๆแวะเข้ามาหน่อย เขาบอกว่างานยุ่งมาก แต่จะแวะมาให้และขอค่าบริการ 200 บาท..ผมงง..อะไรวะ..จะคิดค่าบริการ…ก็ควรจะเป็นบริการของ TOT นี่นา….

ผมรีบไปหาซื้อเจ้าตัว เชื่อมนั้นทันที ขึ้นไปตึกคอมฯโรงแรมโฆษะ..ถามร้านโน้นร้านนี้ ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ราคาต่างๆ ในที่สุดมาลงที่ร้านเจ้าประจำ พยายามสอบถามความรู้ เบื้องต้นเกี่ยวกับเจ้าตัวนี้ น้องคนขายก็พยายามอธิบายพอเข้าใจ เมื่อถามถึงเครื่องนี้มีกี่ยี่ห้อ ราคาเป็นไง คุณภาพแตกต่างกันอย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินใจ เธอก็อธิบายได้ดี มาลงที่ว่า ยี่ห้อ TP-Link นั้นมีข้อดีที่มีศูนย์ซ่อมอยู่ที่ร้านนี่เอง ส่วนญี่ห้ออื่นๆนั้นต้องส่งเข้ากรุงเทพฯ หากเกิดปัญหาต้องซ่อมยี่ห้อ TP-Link น่าพิจารณา แต่ช่าง TOT บอกผมว่า ยี่ห้อนี้คุณภาพสู้ยี่ห้ออื่นไม่ได้….

เอาละซี จะตัดสินใจอย่างไร..

น้องพนักงานขายพาไปคุยกับช่าง TP-Link ที่มีร้านติดกัน ผมก็เล่าให้ฟังทั้งหมดแล้วขอคำแนะนำ ช่างคนนี้ก็บอกว่า ช่าง TOT น่ะไม่รู้เรื่อง Set ค่า TP-Link ไม่เป็นจึงไม่สามารถใช้ตัวเก่าของผมได้ เขาบอกว่าต้อง set ค่าใหม่ เอามาให้เขาจะทำให้…ไอ้หย่า….มันเป็นอย่างนี้หรือ….

นี่เกือบซื้อตัวใหม่ไปแล้วนะ ราคาที่จ้องของดีดีไว้ก็ตั้ง เกือบสามพันบาท หากเอาปรับค่าใหม่แล้วใช้ได้ก็ไม่เสียกะตังเลยนะเนี่ยะ อย่างดีก็แค่ให้ช่าง TP-Link ก็คงไม่กี่ตัง….

ผมนึกย้อนหลังไปว่า ช่าง TOT คิดอะไรกับเรา

· เห็นเราไม่รู้เรื่องก็เลย..ตีกินซะเลย…

· เขารู้เรื่องจริงและเครื่องมันเสียจริงๆ

· ฯลฯ

แต่ก็นึกไปอีกมากมายว่า โลกยุคอิเลคโทรนิคนี่ ความไม่รู้อาจเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ เหมือน ร้านซ่อมคอม ซ่อมทีวี เครื่องล้นห้องออกมาถึงฟุตบาท มาซ่อมทั้งนั้น ช่างมันก็โขกเอาเงินซะ เสียนิดเดียวก็ว่าเสียมาก อธิบายอย่างไรใครจะไปรู้เรื่อง….ว่าจริงหรือไม่จริง อาจจะจริงส่วนหนึ่งโกหกอีกหลายส่วน เราจะไปว่าอย่างไร ก็มันไม่รู้เรื่องอ่ะ…

กล้องถ่ายรูป DSLR ของผมตัวเก่าก็โดน ตีกินมาแล้ว พันห้าร้อยบาท ซ่อมเสร็จถ่ายไปแค่สิบรูปเหมือนเดิม…..ในที่สุดต้องส่งเข้าศูนย์ที่กรุงเทพฯ….เสียไปอีกสี่พัน…อิอิ..

แล้วมีอะไรในยุคนี้ที่ไม่รู้บ้างล่ะ…..

โอย….ล้นฟ้าล้นแผ่นดิน….

นึกในใจว่า….

เออ…ครั้งต่อไปสิ่งที่จะซ่อมเป็นอะไรหว่า……

อิอิ.. กรอด .. กรอด (กัดฟัน)….


ช้างแดง

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 15, 2009 เวลา 19:27 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 5530

เอาดอกกล้วยไม้ช้างแดงมาฝาก

เขาหอมเหมือนช้างกระ ช้างเผือก ช้างพลาย สีแดงเข้มจนออกดำ

เป็นของหายาก ต้นนี้ซื้อมาจากงานเกษตรอีสานปีก่อนโน้น…


Children Damaged by Materialism (2)

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 14, 2009 เวลา 14:25 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4003

เด็กในโลกปัจจุบันเป็นผู้ที่ถูกครอบงำด้วย ลัทธิวัตถุนิยม มากกว่าเด็กในสมัยก่อนมาก

พวกเด็กๆควรได้รับการสนับสนุนให้มองตัวเองอย่างมีคุณค่าในความเป็นคนหรือเป็นมนุษย์ มากกว่าวัดกันด้วยทรัพย์สินสมบัติต่างๆที่ตนมี จนหมดความเป็นคนไป นอกจากนี้บรรดานักธุรกิจที่มุ่งแต่จะขายของและบริการทุกอย่างเพื่อสนับสนุนการมีวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์นิยมวัตถุอย่างรุนแรงอย่างในปัจจุบันที่วัดกันแต่ความเจริญทางวัตถุ ทำให้เกิดความโลภเข้าครอบครองวัตถุให้มากๆ และมีอัตตาแยกตัวเองเป็นเอกเทศ หรือเป็นปัจเจกมากขึ้น ทั้งๆที่ชีวิตจริงควรจะอยู่กันแบบชุมชนและร่วมมือร่วมใจกันในชุมชน

ผมขออนุญาตลอกข้อความที่สำคัญมาสนับสนุนข้อสรุปดังกล่าวเพิ่มเติมอีกคือ

_________________

สมาชิกท่านหนึ่งในคณะผู้สำรวจศึกษากล่าวว่า วงการค้าพาณิชย์ของสังคมและชุมชนเริ่มเข้ามาครอบงำสังคมเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และควรเรียนรู้วัฒนธรรมให้ตกอยู่ในกำมือของพ่อค้าพาณิชย์ ซึ่งมีผลกระทบจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กหลงอยู่ในด้านวัตถุจนไม่สามารถพัฒนาจิตใจให้เจริญตามควร..

ศาสตราจารย์กิตติคุณฟิลลิป เกรเฮม วิชาจิตเวชเด็ก ที่สถาบันสุขภาพเด็กกรุงลอนดอนกล่าวว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้นในขณะนี้คือการที่เด็กๆและวัยรุ่นใช้ชีวิตทุกจังหวะหมกมุ่นอยู่กับความโลภที่จะครอบครองวัตถุต่างๆให้มากเข้าไว้ ล่าสุดคือการแข่งขันกันใช้เครื่องนุ่งห่มที่ตามสมัย แฟชั่นของโลกและความอวดมั่งอวดมีที่จะครอบครองเครื่องมืออุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นสินค้าที่พ่อค้าแข่งกันผลิตออกมาล่อใจ

และยังกล่าวอีกว่า หลักฐานต่างๆที่สนับสนุนเรื่องนี้จะเห็นได้จากในประเทศอเมริกา อังกฤษ เด็กและวัยรุ่นถูกพ่อค้าวาณิชย์ครอบงำโดยสิ้นเชิงด้วย แรงผลักดันทางการค้า (Commercial Pressures) เป็นปัจจัยหลักที่ทำลายสุขภาพจิตของเด็ก

ผลการสำรวจครั้งนี้พบว่า ในอังกฤษประชากรผู้ใหญ่ร้อยละ 90 คิดเหมือนกันว่า โฆษณาสินค้าระหว่างเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส มักจะโน้มน้าวให้ผู้ปกครองของเด็กอยากจะทุ่มเทเงินทองให้แก่ลูกหลานจนเกินกำลังของตน

ผลการสำรวจพบว่า สตรีมากกว่าร้อยละ 60 คิดว่าสื่อทั้งหลายเป็นตัวการผลักดันให้เกิดความนิยมในวัตถุซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคม ส่วนบุรุษคิดเช่นนั้นร้อยละ 56

ส่วนใหญ่ของประชากรผู้ใหญ่ในการสำรวจ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรห้ามปรามไม่ให้สื่อโฆษณาก่อให้เกิดการเปลี่ยนวิถีชีวิตชุมชน และทุกคนควรจะรับภาระร่วมกันที่จะสั่งสอนบุตรหลานของตนให้ตั้งตัวรับการไหลบ่าของ วัตถุนิยมในโลกอย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วย (คุณรจนโรจน์ อ้างอิงข้อมูล ข่าวอินเตอร์เนท บีบีซี)

____________________

เรื่องทั้งหมดนี้ ท่านอาจจะกล่าวว่า ก็รู้ๆกันอยู่ ผมก็ว่าเป็นความจริง แต่ในฐานะที่ผมมีส่วนหนึ่งในการนำความรู้ความคิดเห็นที่เหมาะสมเข้าสู่การปฏิบัติในชนบท จึงต้องตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้มากๆ เพราะเราอาจจะเป็นตัวกรองส่วนหนึ่งที่วิภาค และคัดสรรค์สิ่งเหล่านี้ให้แก่ชุมชนที่เขาห่างไกลระบบข้อมูล ที่ผ่านมาผมเองก็บันทึกเรื่องในทำนองนี้ไว้บ้างแล้ว เช่นที่นี่

http://gotoknow.org/blog/dongluang/190479 http://gotoknow.org/blog/dongluang/127459 http://gotoknow.org/blog/dongluang/120483 http://gotoknow.org/blog/dongluang/95980

ผมพยายามค้นหาอีกตัวอย่างหนึ่งที่อิทธิพลการโฆษณา และค่านิยมส่งผมกระทบอย่างแรงต่อจิตใจของครอบครัวผม ขออนุญาตเล่าให้ฟังอีกครั้ง

ตอนที่ลูกสาวเพิ่งเดินทางไปเรียนไฮสคูลที่ NZ ใหม่ๆ มีเพื่อนของเธอคนหนึ่งโทรมาหาคนข้างกายว่า เขาเป็นเพื่อนสนิทกับลูกสาว ซึ่งเราก็จำได้เพราะลูกสาวเล่าให้ฟังบ่อยๆ เธอคนนี้สมมุติชื่อ ขาว เธออ้างว่าหนูกำลังจะเรียนต่อแต่ไม่มีเงินค่าเทอม เพราะแม่เอาเงินทั้งหมดไปรักษาคุณยายที่กำลังป่วยอยู่ที่กรุงเทพฯ คุณพ่อก็หางานอยู่ จึงขอพึ่งพาขอยืมเงินไปเสียค่าเทอมและค่าหนังสือเสื้อผ้าจำนวน 1 หมื่นบาท ….??

เราสอบถามลูกว่าครอบครัวเขาเป็นสภาพเช่นนี้ไหม ลูกตอบว่าใช่ แต่ไม่รู้ว่าคุณยายเขาป่วย แต่ก็น่าเชื่อถือเพราะครอบครัวเขาก็ไม่ค่อยมี..และเขาก็ไม่เคยโกหก… เราตัดสินใจโอนเงินไปเข้าบัญชีคุณแม่เขา ซึ่งเขารับปากว่าจะทยอยส่งคืนให้หลังจากเดือนที่สองไปแล้ว

หลังจากนั้นก็ไม่เคยได้รับการติดต่อมาอย่างผิดปกติ เราก็คิดในแง่ดีว่าเขาคงยุ่งกับการป่วยของคุณยาย…

จนปลายเดือนที่สองเราลองติดต่อกลับไป พบความจริงว่า คุณแม่ของน้องขาวไม่รู้เรื่องนี้เลย..?? ไม่รู้ว่าลูกสาวมาขอยืมเงินค่าเรียน… แต่เป็นความจริงว่าคุณยายป่วย และเราก็ไม่ค่อยมีเงิน แต่การเรียนของลูกขาวนั้นก็หาเงินมาให้เรียนจนได้…. คุณแม่ไปตรวจสอบบัญชีการเงินก็พบว่าเงินเข้าบัญชีจริง.. คุณแม่เพิ่งรู้เดี๋ยวนั้นว่าลูกกำลังทำการโกหก หลอกลวงคุณป้าเพื่อเอาเงินมาทำอะไรสักอย่างตั้ง 1 หมื่นบาท…

หลังจากการสืบเสาะก็พบว่าลูกสาวเอาเงินไปซื้อมือถือรุ่นใหม่ล่าสุดที่เธอหมายปองไว้…. โอ้พระเจ้า……เธอทำได้…เด็กทำได้ขนาดนี้..

คุณแม่น้องขาวรับปากว่าจะหาทางเอาเงินคืนให้โดยการผ่อนส่ง แต่เลยมาเป็นเกือบสิบปีแล้วครับเราไม่ได้เงินคืนเลย…แต่เราก็อุทิศให้แล้ว เข้าใจดีว่าคุณแม่เขาก็อยู่ในฐานะที่ลำบาก เรานึกเพียงว่าขอให้ลูกขาวกลับตัวกลับใจได้เถอะ…..

เรื่องจริงผ่านคอมฯเรื่องนี้สอนให้เข้าใจว่า…

  • อิทธิพลของระบบโฆษณานั้นเข้าไปโน้มน้าวจิตใจเด็กให้เกิด ความอยากอย่างล้นพ้น จนก้าวข้ามศีลธรรมอย่างกล้าหาญ จนเราตกใจว่าทำได้ถึงเพียงนี้แล้วหรือ….

  • ตัวอย่างทำนองนี้มีมากมาย เด็กนักศึกษาหญิงขายตัวเพราะต้องการกระเป๋าถือยี่ห้อดัง…และ.. กล้าที่จะเสนอตัวด้วย..

  • แล้วอิทธิพลของระบบนี้มีอีกมากมายที่ท่านทั้งหลายก็คงประสบมาแล้วไม่มากก็น้อยทั้งสิ้น

แต่…เอ..เราจะเพียงแค่มาเล่าสู่กันฟังเท่านั้นหรือ….ครับ..


Children Damaged by Materialism (1)

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 14, 2009 เวลา 12:09 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2462

นานๆจะเห็นบทความแบบนี้กัน ชี่อเรื่องคือ “Children damaged by materialism” หรือ เด็กกำลังถูกครอบงำและถูกบ่อนทำลายโดย ลัทธิวัตถุนิยม เป็นบทความแปลของรจนโรจน์ ในยลยิลอินเตอร์เนท ในหนังสือสกุลไทยเล่มเก่ากองอยู่ในห้องทำงานคนข้างกาย ที่พอมีเวลาบ้างผมก็เปลี่ยนสมองไปหยิบหนังสือเหล่านี้มาพลิกอ่านดู ไม่ได้อ่านนิยงนิยายหรอกครับ เปิดดูบทความที่น่าสนใจที่มักมีอยู่บ่อยๆ

อย่างเรื่องนี้เป็นต้น ผมแปลกใจที่ประเทศต้นตำหรับการก่อเกิดระบบทุนนิยม สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมโน้นนนน ปัจจุบันกลับมาพูดเรื่องนี้ สิ่งที่บทความนี้กล่าวถึงคือสิ่งที่เราก่นกันทุกวันถึงพลังมหาศาลของระบบนี้ที่ไหลบ่าเข้ามาบ้านเราโดยเราไม่มี ตัวกรอง ผมมองว่าลัทธิวัตถุนิยมนี้มีผลสองด้าน ด้านหนึ่งก็ดี เพราะเป็นการยกระดับวิถีชีวิตตามการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่อีกด้านหนึ่งเนื้อในที่ไม่ดีมาทำลายของดีดีของเราไป โดยที่เราผู้เสพไม่รู้ตัวบ้าง รู้ตัวแต่ติดสุขบ้าง หรือรู้แบบผิดๆบ้าง

หัวเรื่องบทความนี้กล่าวว่า มีประเด็นบ่งบอกชัดเจนว่าการเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของเด็ก ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กในอังกฤษกำลังถูกทำลายลงด้วยการถูกการพาณิชย์ของโลกเข้าครอบงำ

บทความกล่าวว่าอังกฤษได้ทำ โพลล์ สำรวจเรื่อง แบบอย่างการดำเนินชีวิต หรือวิถีชีวิต ของคนอังกฤษ ที่เรียกการสำรวจนี้ว่า GFK NOP Survey เป็นการตรวจสอบความคิดเห็นของประชาชนอังกฤษจากกลุ่มตัวอย่าง 1,255 คน แล้วพบว่า เด็กในโลกปัจจุบันเป็นผู้ที่ถูกครอบงำด้วย ลัทธิวัตถุนิยม มากกว่าเด็กในสมัยก่อนมาก

บ๊อบ ไรเต็มไมเออร์ ผู้บริหารของสโมสรเด็กของอังกฤษ กล่าวว่า ….พวกเราต้องสำรวจตัวเราเอง เพราะเราเป็นเบ้าหลอมให้กำเนิดแก่ คนในรุ่นต่อไปของเรา นั้น เราได้ทำให้พวกเขาหลงทาง และไม่สามารถประสบผลสำเร็จในการพัฒนาชีวิตของพวกเขา เพราะเรามัวแต่พะวงติดกับสิ่งที่พวกเราคิดว่าเป็น แบบอย่างของวิถีชีวิตที่ถูกต้อง

ดร.โรวัน วิลเลี่ยมส์ อาร์คบิชอพแห่งแคนเตอเบอรี ซึ่งเป็นผู้มอบเงินสนับสนุนการสำรวจครั้งนี้กล่าวว่า พวกเด็กๆควรได้รับการสนับสนุนให้มองตัวเองอย่างมีคุณค่าในความเป็นคนหรือเป็นมนุษย์ มากกว่าวัดกันด้วยทรัพย์สินสมบัติต่างๆที่ตนมี จนหมดความเป็นคนไป นอกจากนี้บรรดานักธุรกิจที่มุ่งแต่จะขายของและบริการทุกอย่างเพื่อสนับสนุนการมีวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์นิยมวัตถุอย่างรุนแรงอย่างในปัจจุบันที่วัดกันแต่ความเจริญทางวัตถุ ทำให้เกิดความโลภเข้าครอบครองวัตถุให้มากๆ และมีอัตตาแยกตัวเองเป็นเอกเทศ หรือเป็นปัจเจกมากขึ้น ทั้งๆที่ชีวิตจริงควรจะอยู่กันแบบชุมชนและร่วมมือร่วมใจกันในชุมชน

ผมขอกราบงามๆแด่ท่านอาร์คบิชอพแห่งแคนเตอเบอรี สามครั้ง สิ่งที่ท่านเปล่งวาจาออกมานั้นมีคุณค่ามากจริงๆ มันได้ย้ำความเข้าใจของเรา เพื่อนฝูงทั้งหลาย คำกล่าวในทำนองนี้ ในความหมายแบบนี้ เราเองก็กล่าวกันมามากมาย แต่เราแค่ปุถุชน คนหนึ่งที่ก่นด่าลัทธิทุนนิยมเท่านั้น ก็รู้ๆกันอยู่แต่คุณและผมก็เสพมันอยู่ทุกวัน…. ซึ่งสังคมถูกครอบไปด้วยลัทธินี้เราอยู่ในสังคมนี้ หนทางจะหลีกหนีไปได้คือการปลีกวิเวกออกจากสังคมไป หรือไม่ก็อยู่ในสังคมนี้แหละ แต่เท่าทัน และมีตัวกรองที่มีประสิทธิภาพพอสมควรที่จะอยู่อย่างไม่ลุ่มหลง ขาดสติ ยั้งคิด ถึงความพอดี พอเพียง เราเลือกเหตุผลหลัง เพราะมิเช่นนั้นก็เข้าป่าเป็นฤษีชีไพรกันไปหมดแล้ว

หากจะประมวลภาพของประเทศไทยต่อเรื่องนี้ ให้ไปดูพัฒนาการทางประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศของเรา วิเคราะห์แผนชาติดูซิ สร้าง GDP เป็นหลัก ซึ่งการเติบโตของ GDP นั้นก็ผนวกการสร้างปัญหา หรือ/และ สร้างความเสี่ยงในการเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย แต่ไม่พูดถึง หรือมองไม่เห็น

หากจะดูว่าการศึกษาเราหลงไหล ขาดสติอย่างไร ให้ไปดูระบบการศึกษาของเราที่ป้อนบัณฑิตก้าวเข้าสู่กองทัพทุน สนับสนุนทุน เช่น นิเทศศาสตร์ ผลิตคนไปคิดระบบการโฆษณาที่ฟังแล้วคนต้องตัดสินใจควักกระเป๋าเอาบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าเขา.. แทนที่จะยั้งคิดในหลักพอเพียง คือไปสร้างค่านิยมการบริโภคขึ้นมา

หลงใหลได้ปลื้มกับรสอาหารมากกว่าคุณค่าอาหาร ค่านิยมในการบริโภคอาหารสำเร็จรูปแก่เด็กๆ

สร้างเงื่อนไขการเข้าถึงการบริโภคที่เกินความจำเป็นง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เช่น ราคามือถือลดลง แต่เสียค่าบริการ ลดราคาวางเงินดาวน์มอเตอร์ไซด์ลงมาเพื่อกระตุ้นให้คนตัดสินใจ เอามอเตอร์ไซด์ออกมา แต่ไม่มีปัญญาผ่อน

…….มากมาย….มากมาย….

เราเองก็เป็นหนึ่งในการเป็นสื่อ หรือ ตัวแบบของการบริโภค หรือค่านิยมด้วยอย่างไม่รู้ตัวดังนั้น การมีสติ รู้เท่าทัน และการสร้างตัวกรองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ในขณะที่เราก่นด่าความไม่ดีของระบบทุนนิยมแต่เราก็เดินตามไปต้อยๆ ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งมีสติและจำเป็นต้องไหลตามไปแบบถูกกระทำ แบบไหลตามไปปากก็โวยไปด้วย..

  • ชาติต้องคิดมากๆในการหันซ้ายขวาประเทศให้เข้าร่องรอยที่เหมาะสม

  • สถาบันหลักของชาติต้องเป็นธงนำในการสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง

  • ผู้นำทุกระดับต้องฝึกฝนตนเองที่จะขบถต่อลัทธินี้แบบค่อยๆเป็นไป

  • ทุกระดับชั้นสร้างตัวกรองที่เหมาะสมขึ้น

  • กลุ่มความคิดต่างๆต้องกระตุกกันให้มากๆ บ่อยๆ ต่อเนื่อง

  • นำเครื่องมือของทุนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทิศทางใหม่ของประเทศ

  • สร้างค่านิยมใหม่ในเรื่องพอเพียงอย่างมีพลัง

  • ผู้นำคนไหนที่สนับสนุนทุนแบบทุนนิยมโดยไม่เห็นความสำคัญต่อสาระทั้งหมดนี้ให้เปลี่ยนไปเข้าหลักสูตรฟื้นฟูทัศนคติใหม่ในการพัฒนาสังคม ประเทศ

  • คู่ขนานไปกับสาระดังกล่าวรัฐต้องมีมาตรการมาสนับสนุนแนวทางนี้ในทุกด้าน

  • โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาทุกระดับต้องสร้างหลักสูตรใหม่… พังกำแพงห้องเรียนออก ก้าวสู่ความเป็นจริงของสังคม วิภาคย์และมองหาทางออกร่วมกัน

  • ฯลฯ


ศาลาวัดหลังเก่า: ประเด็นสำหรับ Dialogue for Consciousness

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 13, 2009 เวลา 12:35 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 4679

ตั้งใจจะเขียนเรื่องตลาดชุมชนที่ผมไปร่วมงานมาเมื่อวานนี้ แต่อดใจไม่ได้ที่จะหยิบเอาเรื่องศาลาวัดแห่งนี้มาก่อน

ผมมีความประทับใจลึกๆเกี่ยวกับศาลาวัดอย่างในรูปนี้ ซึ่งวัดอื่นๆสมัยโบราณโดยเฉพาะในชนบทจะมีกันเกือบทุกวัด มีขนาด ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แล้วแต่ศรัทธาและเงื่อนไขของชุมชนนั้นๆ

ศาลาวัดมีไว้ทำอะไร??

เอาไว้จัดงานบุญต่างๆ ฟังเทศน์ฟังธรรม เอาไว้จัดงานศพในบางแห่งบางพื้นที่ เอาไว้นั่งพักผ่อน เอาไว้จัดประชุมชาวบ้าน ….. ถูกหมดครับ แต่ในที่นี้ต้องการจะกล่าวการใช้ประโยชน์ศาลาวัดเพื่อคนสัญจรไปมาได้พักผ่อน น่าจะเรียกอะไรคล้ายๆความหมายว่าโรงทาน..ทำนองนั้น ผมไม่ได้ถามชาวบ้านว่าภาษาถิ่นเขาเรียกว่าอะไร…ท่านผู้ใดทราบกรุณาบอกด้วยครับ..

สมัยโบราณไม่มีถนนหนทางดีดี ไม่มียานพาหนะ ไปไหนมาไหนใช้วิธีเดินด้วยเท้า อย่างดีก็ม้าต่างวัวต่างเป็นต้น และสมัยโบราณก็มีผู้มีอาชีพค้าขายระหว่างหมู่บ้าน ระหว่างถิ่นเช่นเดียวกัน เช่น ขายเกลือ ขายน้ำมันก๊าด ขายเสื้อผ้า ขายยาสมุนไพร หรือแลกเปลี่ยนสิ่งของและอื่นๆตามยุคสมัย

คนสมัยก่อนที่ยังเป็นยุคบุกเบิกกันนั้น คนเดินทางด้วยเท้าไปแสวงหาถิ่นที่อยู่ใหม่ๆ ไปหาญาติพี่น้องต่างถิ่น การเดินทางก็ใช้เวลาหลายวัน ระหว่างทางก็ต้องอาศัยศาลาวัดเช่นนี้แหละเป็นที่พักผ่อน นอนพัก หากไม่มีคนรู้จักในหมู่บ้านนี้ ได้อาศัยข้าวก้นบาตร ได้อาศัยน้ำเย็นๆจากวัด ร่มเงาศาสนาแผ่ครอบคลุมหัวจิตหัวใจคนไทยโบราณมานาน

ผมมาดงหลวงปีแรก (2544) ก็ยังเห็นพ่อค้ามาขายเสื้อผ้า ยาสูบ และของใช้ในครัวเรือนสารพัด เอารถปิคอัพเก่าๆมา และมาพักกันที่ศาลาแห่งนี้ ทั้งๆที่มีศาลาใหญ่สวยงาม แต่เขามาใช้ศาลาแห่งนี้เพื่อพักผ่อนนอนกินที่นี่

คนที่เห็นแล้วผ่านเลยไปไม่ได้คิดอะไรก็แค่นั้น แต่ผมคิด ว่านี่คือวัฒนธรรมสังคมไทยโบราณของเรา ที่เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่คนต่างหน้า แปลกถิ่นให้มีที่กินที่นอน เหมือนคนภาคเหนือมีตุ่มใส่น้ำดื่มหน้าบ้าน…ทุกบ้าน ใครผ่านมาหิวก็สามารถดื่มกินได้…ช่างสวยงามจริงๆ นี่มั๊งสาวเหนือจึงงามแต้ๆ…งามทั้งกายทั้งใจ…อิอิ..

โรงทาน หรือศาลาวัดแห่งนี้เก่ามากแล้วทรุดโทรม คงถูกใช้ประโยชน์มาเท่าอายุคนทีเดียว ปัจจุบันไม่เห็นใช้ประโยชน์อะไรแล้ว เพราะมีศาลาวัดหลังใหม่ ใหญ่กว่า โอ่อ่ากว่า แต่วัดก็ไม่ได้รื้อศาลาหลังนี้ไปทิ้ง

อาคารหลังนี้ไม่มีคุณค่าทางศิลปะความงดงามล้ำค่าแต่อย่างใด แต่…

ผมนึกไปถึงว่าทำไมโรงเรียนไม่ใช้อาคารเก่าที่กำลังผุพังหลังนี้มาเป็นวัตถุโบราณเป็นครูสอน สะท้อนวัฒนธรรมดีงามของสังคมไทยรุ่นพ่อแม่เรา เอานักเรียนมานั่งที่นี่ มาสัมผัสจิตวิญญาณแห่งอดีตของเรา เอาผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อใหญ่แม่ใหญ่ เจ้าอาวาส มาเล่าประวัติ เล่าถึงการใช้ประโยชน์ในอดีตที่ผ่านมา.. (อย่าไปซุกหัวแค่ในห้องสี่เหลี่ยม จนสมองทึบกันหมดแล้ว) ย้อนรอยถอยหลังไปในอดีตที่เราร่ำรวยน้ำใจ เราฟุ่มเฟือยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราล้นเหลือการทำทาน ให้ทานแก่ผู้ผ่านทาง…..  มาซักไซร้ไล่เรียง สอบถาม เล่าความ บรรยาย สัมผัส แล้วเรื่องที่เกี่ยวเนื่องในวิถีชีวิตของคนโบราณก็จะหลุดออกมาเป็นกะบิ แล้วมาลงท้ายด้วยการกราบงามๆแก่พ่อใหญ่แม่ใหญ่ผู้เป็นวิทยากรท่านนั้นๆ จะเลยไปถึงผูกข้อต่อแขน รดน้ำดำหัวก็ไม่ผิดอะไร…

พ่อแม่เรา พ่อใหญ่แม่ใหญ่เรามีชีวิตหล่อหลอมมาอย่างนี้ เราให้กันอย่างนี้ ลูกหลานเอาเป็นตัวอย่าง เรียนรู้ไว้ ก่อนที่จะเติบใหญ่เป็นคนในสังคมใหม่ที่ขาดแคลนทาน การให้ ยากจนน้ำใจ ตระหนี่ถี่เหนียวผิดมนุษย์มนาในเรื่องไม่เป็นเรื่อง สังคมจะอยู่ได้อย่างไรหากทุนสังคมเดิมดีดีของเราหดหายไปจนสิ้น สิ่งที่งอกเงยมามีแต่การเอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่งกัน ไขว่คว้าปริมาณให้มากที่สุด ละเลยคุณค่าทางใจแก่กัน

ภาพเหล่านี้สะท้อนใจผมมากครับ….เพื่อนร่วมโลก..

ผมเรียกการกระทำพูดคุยของคนต่างวัย ต่างรุ่น แบบนี้ว่า Dialogue for consciousness or awareness เป็นสุนทรียสนทนาอีกแบบหนึ่ง ที่ทำเพื่อปลุกสำนึกคนรุ่นดิจิตอลให้เห็น รับรู้ สัมผัสและตระหนักคุณค่าทางวัฒนธรรมดีดีของเราครับ



Main: 1.6241269111633 sec
Sidebar: 0.26049208641052 sec